ธ.ก.ส. ขานรับนโยบายตั้งการ์ดป้องกันภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

0
488

ธ.ก.ส. ขานรับนโยบายกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เดินหน้าป้องกันภัยมิจฉาชีพทางการเงิน ผ่านมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ทั้งการยกเลิก SMS และอีเมลที่แนบลิงก์ทุกกรณี การพัฒนาระบบความปลอดภัยให้ทันต่อภัยทางการเงิน การตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติแบบ near real- time รวมถึงการจัดตั้ง hotline สำหรับการแจ้งภัยทางการเงิน เพื่อปิดช่องว่างในการฉวยโอกาสจากมิจฉาชีพและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงิน กรณีพบเห็นการแอบอ้างต่าง ๆ หรือแจ้งเหตุภัยทางการเงิน ติดต่อได้ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ ธ.ก.ส. ตลอด 24 ชั่วโมง

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ด้วยขณะนี้ภัยทางการเงินที่เกิดจากมิจฉาชีพมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการโทรผ่าน Call Center การส่ง SMS แนบลิงก์ หรือแอปพลิเคชันดูดเงิน ที่หลอกลวงให้ประชาชนดาวน์โหลด กรอกข้อมูล หรือกระทำการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียเงิน ถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ หรือขาดความมั่นใจในการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ อันเป็นผลเสียวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงออกมาตรการการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ในด้านการป้องกัน การตรวจจับ การตอบสนอง และการรับมือภัยทุจริตทางการเงินบนหลักการรักษาสมดุล ระหว่างการบริหารความเสี่ยงและการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล เพื่อเป็นแนวทางและมาตรฐานในการปฏิบัติงานของสถาบันการเงิน ซึ่ง ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมดำเนินงานตามแนวทางดังกล่าว เพื่อดูแลประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยทางการเงินและมิจฉาชีพ รวมถึงเสริมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการให้สามารถทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

สำหรับมาตรการการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ได้แก่ 1) มาตรการป้องกันเพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดยงดการส่งข้อความหรืออีเมล์แนบลิงก์ในการขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อ-นามสกุล หรือเลขบัตรประชาชน การปิดกั้น SMS และ Call center ที่แอบอ้างเป็นธนาคารและปิดเว็บไซต์หลอกลวงการจำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งานสำหรับ Mobile Banking เพียง 1 อุปกรณ์/ผู้ใช้งาน การแจ้งเตือนผู้ใช้บริการก่อนการทำธุรกรรมบน Mobile Banking ทุกครั้ง การพัฒนาระบบความปลอดภัยให้ทันต่อภัยทางการเงินที่เปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา การยกระดับการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยี biometrics และการกำหนดเพดานวงเงินการทำธุรกรรมออนไลน์ต่อวันให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยในการปรับวงเงินสามารถปรับได้ตามความจำเป็นและต้องมีการยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด 2) มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชีหรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อจำกัดความเสียหายและลดการใช้บัญชีม้า โดยกำหนดเงื่อนไขในการตรวจจับและติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติ รายงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งสถาบันการเงินต้องมีระบบในการตรวจจับบัญชีหรือธุรกรรมที่ต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมเป็นการชั่วคราวได้ทันที และเปิดช่องทางในการแจ้งความออนไลน์สำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากภัยทางการเงิน 3) มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น โดยให้สถาบันการเงินมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางปกติ รวมถึงการให้ความรู้ด้านภัยทางการเงิน สำหรับกลุ่มเปราะบางและเด็กให้รู้เท่าทันต่อภัยทางการเงินและมิจฉาชีพ
โดย ธ.ก.ส. ได้เริ่มดำเนินการตามมาตรการฯ ไปแล้ว ได้แก่ การยกเลิกการส่งข้อความ (SMS) และอีเมล์แนบลิงก์ในทุกกรณี และการเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพสำหรับเกษตรกรลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อได้ที่ Call Center 02 555 0555 กด *3 ทั้งนี้ ธ.ก.ส. พร้อมยกระดับมาตรฐานในการป้องกันภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ เพื่อดูแลเกษตรกรลูกค้าให้ปลอดภัยจากภัยทางการเงินและสามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย
นายพงษ์พันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ธ.ก.ส. จึงขอให้ท่านโปรดตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนทุกครั้ง และใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการติดต่อหรือทำธุรกรรมออนไลน์ หากพบเห็นการแอบอ้างต่าง ๆ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ Call Center 02 555 0555 กด *3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเว็บไซต์ www.baac.or.th LINE Official Account : @baacfamily และ Facebook Page “ธกส BAAC Thailand” และ “ธกส บริการด้วยใจ”