ทีเส็บเตรียมพร้อม สมาคมการประชุมโลกเลือก กทม.จัดประชุมใหญ่ประจำปี 2566

0
630

7 ธันวาคม 2565: สมาคมการประชุมนานาชาติ ICCA มั่นใจศักยภาพไมซ์ไทย ดึงสมาชิกกว่าพันคนจากทั่วโลกมาประชุมประจำปีใน กทม. เดือนพฤศจิกายน 2566

ICCA เป็นสมาคมหลักด้านการประชุมนานาชาติของโลก จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2506 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุม โดยปัจจุบันมีสมาชิก 91 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่าทีเส็บลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม The 62nd International Congress and Convention Association Congress 2023” หรือ ICCA Congress 2023 ร่วมกับ สมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) โดยมีกรุงเทพมหานครร่วมเป็นสักขีพยาน แสดงความพร้อมของไทยสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ในโอกาสการมาเยือนของคณะทำงาน ICCA เพื่อร่วมประชุมหารือและสำรวจความพร้อมของสถานที่จัดงานเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 2565 โดยมีเป้าหมายให้การประชุม ICCA Congress 2023 เป็นงานที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon-Neutral Event) ตอกย้ำจุดยืนของไทยที่มุ่งส่งเสริมการจัดงานอย่างยั่งยืนและความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมครั้งล่าสุดของกรุงเทพมหานครในฐานะผู้คว้ารางวัล Global Destination Sustainability Index (GDS-Index) 2022 ในหมวด Most Improved Award อีกด้วย
สมาคมการประชุมนานาชาติ หรือ ICCA มีสมาชิกจากทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 1,000 หน่วยงาน จาก 91 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก การเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมครั้งนี้จึงตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางการจัดประชุมนานาชาติทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เพิ่มรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของการจัดประชุมนานาชาติในไทยของทีเส็บผ่านโครงการ อาทิ การสนับสนุนการจัดประชุมนานาชาติ การสนับสนุนการประมูลสิทธิ์งานประชุมนานาชาติ การสร้างโอกาสทางธุรกิจและฐานตลาดใหม่ในระดับนานาชาติ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรนานาชาติในวงการการประชุมนานาชาติ ตลอดจนการสนับสนุนพัฒนาสมาคมและผู้ประกอบการในประเทศไทย เพื่อเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกและคุณประโยชน์ต่อเนื่องหลังการจัดงาน”
การจัดประชุม ICCA Congress ครั้งนี้จัดขึ้นในไทยเป็นครั้งที่สาม และครั้งที่สองในกรุงเทพฯ โดยมีกรอบความร่วมมือการเป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่าง ICCA และ ทีเส็บ ร่วมกับ กรุงเทพมหานครในฐานะเมืองเจ้าภาพ (Host City) โดยทีเส็บในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพในประเทศ (Local Host) รับหน้าที่ดำเนินการและประชาสัมพันธ์การจัดงานในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายไทย (Local Organizing Committee) ประกอบด้วยองค์กรสมาชิก ICCA ในไทยและเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันวางแผนงาน เตรียมความพร้อมและดูแลองค์ประกอบของการจัดงานในทุกขั้นตอน งานประชุม ICCA Congress 2023 เป็นการประชุมสามัญประจำปีจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน 2566 ณ กรุงเทพมหานคร เปิดรับลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงานในเดือนมีนาคม 2566 ประมาณการผู้เข้าร่วมงาน 1,000 คน เป็นผู้ร่วมงานชาวต่างชาติ 800 คน และผู้ร่วมงานชาวไทย 200 คน คาดว่าจะสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 85 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจในประเทศ (GDP) กว่า 47 ล้านบาท เกิดรายได้จากภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุม 2.92 ล้านบาท รวมถึงสร้างมูลค่าทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ในระดับนานาชาติให้กับประเทศไทยกว่า 300 ล้านบาท

นายเซนทิล โกพินาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) กล่าวว่า “ICCA มีความยินดีที่จะนํางาน ICCA Congress ครั้งที่ 62 มาจัดที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในเดือนพฤศจิกายนปีหน้า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายการจัดงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมการประชุมนานาชาติ และได้ทำหน้าที่เจ้าภาพการประชุมชั้นนำระดับโลกอีกหลายรายการ ความพยายามของทีเส็บในการพัฒนาอุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติในประเทศไทยเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง ประเทศไทยและทีเส็บเป็นพันธมิตรของ ICCA มาอย่างยาวนาน เราได้ร่วมมือทำงานในระดับโลกมากมาย และงาน ICCA Congress ในครั้งนี้จะเป็นอีกงานสำคัญ หลังจากได้มาสำรวจความพร้อมของพื้นที่ในครั้งนี้มั่นใจว่ากรุงเทพฯ ในฐานะเมืองเจ้าภาพจะสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมงาน เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นบุคลากรในแวดวงอุตสาหกรรมการประชุมจากทั่วโลกมารวมตัวกันที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) และร่วมสัมผัสประสบการณ์ในครั้งนี้ นอกจากนี้การที่ ICCA มาจัดงานที่กรุงเทพฯ นับเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในโครงการ “Bangkok Vision 2032” ของเมือง ซึ่งมุ่งมั่นนำเสนอกรุงเทพฯ ผ่านแนวคิดและมุมมองใหม่สู่ประชาคมโลก กรุงเทพมหานครมีบทบาทสำคัญต่อการจัดงาน ICCA ในครั้งนี้นับตั้งแต่กระบวนการประมูลสิทธิ์เจ้าภาพ การร่วมเดินทางไปรับธงเจ้าภาพ ณ เมืองคราเคา โปแลนด์ รวมถึงการเตรียมความพร้อมของเมืองเพื่อแสดงศักยภาพของประเทศไทย

ทั้งนี้ ICCA ดำเนินงานโดยมุ่งเน้น “ความยั่งยืน” เป็นหัวใจสำคัญ มุ่งมั่นสร้างสรรค์เนื้อหาสาระ ประสบการณ์ทางวัฒนธรรม การสร้างเครือข่าย และโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับสมาชิก และที่สำคัญเราเชื่อมั่นว่าการประชุม ICCA Congress ครั้งที่ 62 นี้จะสร้างคุณประโยชน์ต่อเนื่องให้กับกรุงเทพฯ และอุตสาหกรรมการจัดประชุมในภาพรวม”
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจที่อุดมด้วยความหลากหลายตั้งแต่ ความเป็นพหุวัฒนธรรม เชื้อชาติ อาหารตั้งแต่สตรีทฟูดจนถึงเชฟในภัตคาร 6 ดาว โบราณสถาณ สถาปัตยกรรมร่วมสมัย สถานที่เพื่อการจัดประชุม สถานที่จัดเลี้ยง หอศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่เอนกประสงค์อื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มากกว่านั้นก็ยังอุดมไปด้วยศิลปการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ไม่ว่าจะเป็น นาฎศิลป์ ดนตรี การแสดงร่วมสมัย กีฬามวยไทย เป็นต้น บุคคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนมีความตื่นตัว และพร้อมต้อนรับคณะ ICCA และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน กรุงเทพมหานครเรามีความพร้อมในทุกมิติที่จะทำให้ ICCA Congress 2023 เป็นอีกการจัดประชุมที่จะสร้างมาตรฐานและเป็นที่จดจำของทุกคนที่เข้าร่วมได้”
นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Asia Convention Alliance Association Forum ครั้งที่หนึ่ง (#ACAAF1) ซึ่งเป็นงานแรกของกลุ่มพันธมิตรด้านการจัดประชุมนานาชาติร่วมเครือข่าย Asia Convention Alliance (ACA) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างตัวแทนผู้บริหารสมาคมเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติ โดยมีองค์กรพันธมิตรจาก 4 พื้นที่สำคัญได้แก่ ไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน ร่วมขยายเครือข่ายพันธมิตรส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติร่วมกัน คาดว่างานนี้จะสร้างโอกาสการดึงงานประชุมนานาชาติอย่างน้อย 4 งาน เพื่อจัดหมุนเวียนในกลุ่มสมาชิกโดยงาน #ACAAF1 จะจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเดียวกับงานประชุม ICCA Congress 2023 ด้วย