ทีเส็บจัดแฟมทริปผู้ประกอบการไมซ์ต่างชาติครั้งแรกในรอบ 2 ปี คาดการณ์รายได้เข้าไทยกว่า 1,900 ล้านบาท 

0
1264

ทีเส็บจัดแฟมทริปผู้ประกอบการไมซ์ต่างชาติในรอบ 2 ปี ขานรับมาตรการผ่อนคลายการเข้าประเทศ ดึงผู้ประกอบการไมซ์ต่างชาติ 43 ราย จาก 14 ประเทศและ 1 เขตบริหารพิเศษ สำรวจสถานที่จัดงานในกรุงเทพฯและภูเก็ต เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลือกจัดงานไมซ์ในประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะเกิดการจัดงานจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (lead) จำนวน 57 งาน รายได้ประมาณการ 1,901.34 ล้านบาท ผู้ประกอบการไมซ์นานาชาติต่างชูคุณภาพมาตรฐานงานบริการ ความยืดหยุ่นในการทำงาน ความหลากหลายของเส้นทางและกิจกรรมไมซ์ เป็นจุดขายประเทศไทยในการจัดงานไมซ์นานาชาติ  

 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้น ทีเส็บจึงรีบดำเนินการกระตุ้นตลาดต่างประเทศทันที ทั้งตลาดที่มีโอกาสฟื้นตัวเร็ว คือตลาดการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และตลาดที่ต้องวางแผนระยะยาว คือตลาดงานประชุมนานาชาติ โดยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ถึง 1 เมษายน ที่ผ่านมา ทีเส็บได้จัดงาน 2022 Thailand MICE Familiarization Trip ขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขานรับมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาล โดยจัดกิจกรรมในเส้นทางกรุงเทพ – ภูเก็ต ให้กับกลุ่มบริษัทตัวแทนการเดินทางไมซ์ (MICE Agent) บริษัทผู้ให้บริการจัดงานอีเวนต์ (Event Planner) นักวางแผนการจัดประชุม (Meeting Planner) ผู้แทนจากองค์กรธุรกิจ (Corporate) และกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการด้านบริหารจัดงานประชุม (Professional Conference Organizer – PCO) รวม 43 ราย จาก 14 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยียม บัลแกเรีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และ 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งหมด 15 ตลาดลูกค้าต่างประเทศ

 

 “การจัดกิจกรรมนี้มุ่งหวังว่ากลุ่มผู้จัดงาน องค์กรธุรกิจ จากนานาประเทศจะได้รับประสบการณ์ตรงจากการเข้ามาศึกษาเส้นทางดูความพร้อมและศักยภาพของประเทศไทยในการจัดงานประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการจัดประชุมวิชาชีพระดับนานาชาติทั้งในด้านของสถานที่จัดงาน โรงแรมที่พัก รูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ การเดินทางเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนแนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยในการจัดงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการไมซ์ในต่างประเทศว่าการตัดสินใจเลือกจัดงานในประเทศไทยจะได้รับผลสำเร็จตามเป้าหมาย และสร้างความประทับใจให้กับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามา” 

    การจัดงานครั้งนี้ยังให้ความสำคัญกับการจัดงานอย่างยั่งยืนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยการจัดกิจกรรมแฟมทริปทั้ง 7 วัน รวมถึงการจัดงานเลี้ยงขอบคุณผู้ร่วมทริปในคืนสุดท้าย หรืองาน The Embrace of Thai Night ปิดท้ายกิจกรรม ได้มีการบริหารจัดการงานทั้งหมดให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 6,603.19 kgCO2e เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 400 ต้น และวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในงานจะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ในงานอื่นต่อไป 

    ทั้งนี้ ในการพบเจรจากับผู้ประกอบการไทย ทั้งศูนย์ประชุมนานาชาติและโรงแรมต่าง ๆ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ของการนำงานมาจัดในประเทศไทย สามารถคาดการณ์จำนวนงานจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (lead) ของงานประชุมนานาชาติทั้งหมด 6 งาน จำนวนนักเดินทาง 14,600 คน ประมาณการรายได้ 919,800,000 บาท ในส่วนของการประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล สรุปจำนวนงานจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (lead) ได้ทั้งหมด 51 งาน จำนวนนักเดินทาง 15,580 คน ประมาณการรายได้ 981,540,000 บาท รวมรายได้เข้าประเทศทั้งหมดเป็นเงิน 1,901,340,000 บาท 

    สำหรับมุมมองต่อความพร้อมในประเทศไทยของผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่มาร่วมทริปในครั้งนี้ต่างกล่าวถึง มาตรฐาน คุณภาพ ความยืดหยุ่นในการปรับตัว เอกลักษณ์ด้านบริการ และอาหารเป็นจุดขายของประเทศไทยในการรองรับการจัดงานไมซ์นานาชาติ

    Mr. Werner Van Cleemputte เจ้าของบริษัท Medicongress ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านบริหารจัดงานประชุม (Professional Conference Organizer – PCO) จากประเทศเบลเยียมกล่าวว่า “การเข้าร่วมทริปครั้งนี้รู้สึกประทับใจกับการพัฒนาที่ดีมากยิ่งขึ้นของกรุงเทพฯ มีมาตรฐานสูงอยู่ในระดับสากล เหมาะกับการจัดงานประชุมนานาชาติ ความโดดเด่นของประเทศไทยคือการทำงานที่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เทคโนโลยีที่พร้อมรองรับการจัดงาน การให้บริการที่มีเอกลักษณ์และเป็นจิตวิญญาณสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเหมาะสมกับการกลับมาจัดงานประชุมแบบพบปะหน้าตากันโดยตรงอีกครั้ง”

    Ms. Alexandra Goodsell, Head of Customer Success บริษัท Power2Motivate ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการจัดงานอีเวนต์ (Event Planner) จากประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า “การร่วมทริปครั้งนี้ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีอะไรที่มากกว่าการเป็นจุดหมายของการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล ไม่แปลกใจที่ประเทศไทยจัดอยู่ในตัวเลือกที่โดดเด่น เพราะมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองกลุ่มนักเดินทางไมซ์ได้หลากหลาย ทั้งคุณภาพของโรงแรม มาตรฐานด้านอาหารที่ดียิ่งขึ้น ประเภทของโรงแรมที่พัก สถานที่จัดงานจัดกิจกรรม  สถานที่พักผ่อนต่าง ๆ ล้วนเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับนักเดินทางไมซ์ โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางไมซ์หนุ่มสาว และกลุ่มธุรกิจสายเทคโนโลยี” 

    Mr. Mark Cochrane, Regional Director Asia-Pacific จากสมาคมแสดงสินค้าโลก หรือ UFI (The Global Association of the Exhibition Industry) กล่าวว่าในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ประเทศไทยได้พัฒนาการบริการต่าง ๆ ให้ดีมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาผู้จัดงานต้องจัดระบบระเบียบต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีการบริหารจัดการระบบที่มุ่งเน้นการดำเนินงานตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก (Customer-Oriented) เช่น ระบบ Thailand Pass ถือเป็นการเสริมต่อจุดแข็งของไทยด้านการบริการที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้จัดงานสะดวกสบายเป็นประโยชน์ในการจัดงาน ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่จะทำให้การจัดงานแสดงสินค้าประสบความสำเร็จ”

นายจิรุตถ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันว่าตลอดสองปีที่ผ่านมา ที่เราเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 แต่ทีเส็บก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการกลับมาของตลาดไมซ์ต่างชาติอีกครั้ง และยังคงได้รับความไว้วางใจจากนานาชาติในการเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงาน ซึ่งเสียงตอบรับจากผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ต่างมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่ตอบโจทย์การจัดงานระดับโลกให้บรรลุผลสำเร็จได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”