ทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง! คว้ารางวัลและเหรียญรางวัลจากเวที “The 34th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2023) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

0
526

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำทีมนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยจาก 20 หน่วยงาน สร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทย ในเวที “The 34th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2023) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2566 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลและมอบ special prize on stage ให้กับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที ITEX 2023 ร่วมด้วยนายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม มอบ special prize on stage ให้กับนักประดิษฐ์นักวิจัยที่ได้รับรางวัลจากเวที WYIE 2023 ซึ่งเป็นเวทีระดับเยาวชน

เป็นที่น่ายินดีที่นักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลพิเศษของงาน on stage คือ รางวัล ITEX 2023 Best Invention Award – International จากผลงานเรื่อง “”การพัฒนาและสมบัติของพอลิพรอพิลีน/พอลิเอทิลีน ไวนิลอะซิเตท/ไมโครเซลลูโลสสำหรับประยุกต์เป็นวัสดุขัดในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Bright A Gems)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น และคณะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาคุณสมบัติของวัสดุคอมโพสิตจากพอลิพรอพิลีน/พอลิเอทิลีนไวนิล อะซิเตท/ไมโครเซลลูโลส เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตวัสดุที่ใช้ขัดเครื่องประดับ พบว่าสูตรที่มีปริมาณไมโครเซลลูโลส 30 phr ให้ผลขัดที่แตกต่างจากสูตรอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด คือที่พื้นผิวของชิ้นงานทองเหลือง มีความละเอียดและสว่างขึ้น คราบสกปรกต่างๆ หลุดออกได้หมด

นอกจากนี้ ยังมีประดิษฐกรรมและและนวัตกรรมไทยอีก 3 ผลงานที่ได้รับ Special Prize on stage จากองค์กรนานาชาติ ดังนี้
• Japan Intellectual Property Association (JIPA) ญี่ปุ่น มอบรางวัล JIPA Award for Best Invention in Green Technology ให้แก่ผลงานเรื่อง “เข็มขัดเคลือบยางพาราสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” โดย ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร และคณะ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
• World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ไต้หวัน มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “ไฮเอ็น พอลิเมอร์ก่อตัวเองได้เป็นนาโนเจลที่เป็นระบบนำส่งสารสำคัญทางยาและเครื่องสำอางและเพิ่มคุณสมบัติทางชีวภาพของไฮยาลูรอนตามธรรมชาติ” โดย รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.จิตติมา ลัคนากุล และคณะ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

• Hong Kong Student Invention Patent Program (HKSIP) ฮ่องกง มอบรางวัลให้แก่ผลงานเรื่อง “อุปกรณ์ตรวจจับการหกล้มด้วยความเร่งเพื่อผู้สูงอายุ” โดย นางสาวจิดาภา เผ่าพงษ์บุรีพันธุ์ และคณะ จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

พร้อมนี้ ผลงานของนักประดิษฐ์นักวิจัยไทยยังคว้าเหรียญรางวัลจากเวที ITEX 2023 ในประเภทต่างๆ ดังนี้
ระดับนักประดิษฐ์/นักวิจัย (ITEX)
o เหรียญทอง 21 ผลงาน
o เหรียญเงิน 18 ผลงาน
o เหรียญทองแดง 1 ผลงาน
ระดับเยาวชน (WYIE)
o เหรียญทอง 7 ผลงาน
o เหรียญเงิน 8 ผลงาน
o เหรียญทองแดง 2 ผลงาน
พร้อมด้วย Special Prize จากประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

ITEX เป็นงานการประกวดและนำเสนอผลงานของนักประดิษฐ์จากประเทศต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นมากว่า ๓๐ ครั้ง ถือเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นเวทีที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศให้ความสนใจในการเข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างนักประดิษฐ์และนักวิจัย จัดโดย Malaysian Invention and Design Society (MINDS) หน่วยงานด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และการออกแบบของมาเลเซีย โดยในปีนี้ได้จัดในรูปแบบออนไซต์และแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 ระดับ ทั้งในระดับนักประดิษฐ์/นักวิจัย และระดับเยาวชน สำหรับงานในปี 2023 นี้ วช. ได้นำคณะนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากประเทศไทยมากกว่า 100 คน ทั้ง 2 ระดับของการแข่งขันร่วมประกวดแข่งขันและนำเสนอผลงานใน ITEX 2023