ทีทีบี รวมพลังอาสาสมัคร ปลุกชุมชนเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าสานต่อกิจกรรมดี ๆ ผ่านการ “ให้” คืนกลับสู่สังคม

0
580

ทีทีบี มุ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เดินหน้าสานต่อพลังเปลี่ยน…ชุมชนเพื่อความยั่งยืน ด้วยกิจกรรม fai-fah for Communities ผ่านการ “ให้” จากพลังอาสาสมัครทีทีบีทั่วประเทศใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญช่วยเหลือสังคมด้วยการทำงานอาสาสมัครจุดประกายสร้างการเปลี่ยน แปลงให้ชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญา Make REAL Change โดยในปี 2566 มีจำนวนโครงการทั้งสิ้น 26 โครงการ มีอาสาสมัครเข้าร่วมกว่า 3,000 คน

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า “การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของทีทีบีทุกโครงการเน้นสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน ซึ่งการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครทีทีบี นำทักษะและองค์ความรู้ไปช่วยกันเปลี่ยนให้ชุมชนดีขึ้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมขององค์กรในการจุดประกายการให้อย่างยั่งยืนคืนกลับสู่ชุมชน ในฐานะตัวแทนผู้บริหารขอขอบคุณอาสาสมัครทีทีบีที่ช่วยกันทำสิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคม แม้ว่าทุกคนจะมีงานประจำที่ต้องทำเยอะอยู่แล้ว แต่ยังเสียสละเวลาช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชน ทำให้สามารถพัฒนาเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงมีโอกาสส่งต่อให้คนอื่นอีกด้วย ซึ่งการตั้งเป้าหมายทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเราเอง จะต้องมี Passion และแรงผลักดัน ถึงจะสำเร็จได้ และยิ่งถ้าทำให้สิ่งที่เรียกว่า Pay It Forward คือ อยากทำสิ่งดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุด ก็จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมและประเทศชาติ”

นางสาวกิ่งมณี ศิริโกศัยกานนท์ อาสาสมัครทีทีบี จากโครงการ Build for Blind ที่เข้าไปช่วยพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่ศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดจนสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว พร้อมทั้งทำให้สังคมรู้จักศูนย์ฯ มากขึ้น กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทีทีบี มีความรู้สึกประทับใจหลายมุม เช่น ในมุมของทำงานจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการของทีม เพราะทุกคนงานยุ่งมาก มีปัญหาเรื่องเวลาไม่ตรงกัน และบางคนก็ไม่ได้ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้การประสานงานในช่วงแรกค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อมีการสื่อสารจนเข้าใจกันมากขึ้น และมีการวางแผนกระจายงานให้ทุกคนมีส่วนร่วมเท่าที่จะทำได้ ก็ทำให้โครงการประสบความสำเร็จในที่สุด ส่วนอีกมุมที่ประทับใจ คือ รอยยิ้มและคำขอบคุณจากบุคลากรในศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด รวมถึงความสุขจากการที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ และทำให้ทุกคนในศูนย์ฯ ได้ภูมิใจถึงคุณค่าของชิ้นงานที่ทำ นอกจากนี้ยังสามารถขายเพื่อสร้างรายได้มาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

“แม้ตอนแรกจะรู้สึกว่างานยุ่งขนาดนี้จะมีเวลาไปทำได้อย่างไร แต่เมื่อทำจนจบโครงการ เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำไปไม่ได้เสียเวลาเปล่า อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับตัวเอง ปีหน้าหากมีโอกาสก็อยากจะทำกิจกรรมแบบนี้อีก และรู้สึกดีมากที่ทีทีบีมีโครงการดี ๆ แบบนี้ มาปลุกพลังให้กับพนักงาน คือ นอกจากการโฟกัสเรื่องงาน เมื่อเรามาเสียสละให้กับสังคมก็ช่วยปลุกพลังความคิดดีในตัวเราด้วย และได้เรียนรู้การทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งยังได้สัมผัสกับปัญหาจริง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งการทำโครงการของเราจะเข้าไปดูทั้งข้อดีและข้อเสีย จุดขายคืออะไร พบว่าผลงานของคนตาบอดมีความละเอียดมาก แต่ไม่มีช่องทางจัดจำหน่าย ทำให้รายได้น้อยไม่เพียงพอ ทางทีมจึงเข้ามาช่วยด้านการทำตลาดในโลกโซเชียลเพื่อให้คนได้รู้จักศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอดมากขึ้น อยากให้เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาอาชีพคนตาบอดให้มากขึ้นเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืน”

ด้านนายกิตติ บุญยโยธิน อาสาสมัครทีทีบีจากโครงการ ไฟ-ฟ้า คนรุ่นใหม่ ฉลาดออม ฉลาดใช้กล่าวว่า เป็นอาสาสมัครทีทีบีมาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งตอนแรกก็ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้ลงมือทำ พบว่าโครงการนี้มีการทำงานเป็นทีม มีแนวร่วมที่มีพลัง และที่สำคัญเป็นการให้ที่ปลุกความคิดปลุกสังคมให้มาร่วมกันทำ โดยมีชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น เพราะทุกโครงการจะต้องเข้าไปพูดคุยสอบถามความต้องการของชุมชนก่อน อาสาสมัครทีทีบีเข้าไปทำให้ชุมชนรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองที่มีอยู่ พร้อมจุดพลังและช่วยต่อยอดให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในเรื่องความยั่งยืนไม่ได้เป็นโครงการที่จบแค่วันเดียว ซึ่งทำให้โครงการเพื่อสังคมของทีทีบีมีความแตกต่างจากหลาย ๆ องค์กร

“สิ่งที่ได้จากการเป็นอาสาสมัครทีทีบี คือ การทำโครงการอาสาทำให้ค้นพบจิตใจอีกด้านหนึ่งของเรา และงานอาสาเป็นงานที่ต้องร่วมมือร่วมใจกัน ได้เห็นความคิดของแต่ละคนในหลาย ๆ แนว อาจจะมีปัญหาความเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เมื่อจุดมุ่งหมายชัดเจนว่าเป็นการทำเพื่อเข้าไปดูแลชุมชนให้ดีขึ้น ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ก็สามารถปรับทัศนคติให้ไปด้วยกันได้ ซึ่งตอนเริ่มต้นทุกคนอาจจะคิดว่าเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่มากกว่างานของเรา แต่เมื่อเข้าใจอย่างแท้จริง ทุกคนจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องการให้ เป็นกิจกรรมที่มีความสุขช่วยเติมเต็มจิตใจของทีมอาสาสมัครทีทีบี เมื่อจบโครงการทุกคนจะรู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่ทำ”

ปิดท้ายที่นายสายชล แกล้วกสิกรรม อาสาสมัครทีทีบี โครงการทีทีบีส่งเสริมอาชีพสู่ชุมชน โดยทีมธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ พระนครศรีอยุธยา ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนดีขึ้น มีอาชีพมั่นคงสร้างรายได้อย่างยั่งยืนจากการขายน้ำพริกและปลาวง กล่าวว่า สนใจอยากเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทีทีบีมานานแล้ว ในปีนี้ได้มีโอกาสและดีใจมากที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลโครงการ โดยหลังจากได้ลงพื้นที่ไปสำรวจเห็นวิถีชีวิตและรับทราบปัญหาของชุมชน รู้สึกเลยว่าต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่ทำให้จบไป ต้องทำให้เกิดประโยชน์เพื่อสร้างอาชีพให้คนในชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืน โดยไม่กระทบหรือไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ตอนนี้โครงการเดินหน้าต่อเนื่องโดยชุมชนร่วมกันผลักดันให้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน

“สิ่งที่ทุกคนได้กลับมาจากการทำโครงการ คือ ความสุข จากการที่เห็นสังคมน่าอยู่และมีความเอื้ออาทรกัน เรารู้สึกดีที่ได้เห็นชาวบ้านมารวมตัวพูดคุยกัน มีรอยยิ้มให้กัน ช่วยกันทำน้ำพริก ทำให้โครงการนี้เป็นพื้นที่แห่งการดึงดูดให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมกันทำงาน บางคนอายุมากแล้วมาทำงานวันละ 3 ชั่วโมง มีรายได้ 300 บาท ทำให้คนสนใจเข้ามาในกลุ่มเยอะขึ้น ในฐานะอาสาสมัครทีทีบีภูมิใจที่ธนาคารมีโครงการดี ๆ แบบนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์กับทุกคนจริง ๆ”

ไฟ-ฟ้า โดย ทีทีบี มุ่งมั่นและตั้งใจเดินหน้าจุดประกายเยาวชนและชุมชน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ติดตามกิจกรรมดี ๆ ต่อได้ที่ https://www.ttbfoundation.org


เปลี่ยนเพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน #ไฟฟ้าโดยทีทีบี #faifahbyttb

ให้ชีวิตการเงินดีทั้งวันนี้และอนาคต #เปลี่ยนเพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น

ttb #MakeREALChange