ทิพยประกันภัยนำคณะครูอาจารย์ ร่วมโครงการ “ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 9” เยือนอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา โครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี

0
1717

คุณวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ทิพยประกันภัย   ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 40 คน ร่วมกิจกรรม “ทิพยสืบสาน รักษา    ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 9” เยือนอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา และโครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมร่วมกันสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และปลูกฝังคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา ให้กับเยาวชน  

โดยกิจกรรมตามรอยพระราชาครั้งนี้ได้ นำคณะครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 40 คนร่วมกิจกรรมเยือนอ่างเก็บน้ำ  นฤบดินทรจินดา โครงการปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปราจีนบุรี ในวันนี้  มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องด้วยเป็นอ่างเก็บน้ำแห่งสุดท้ายในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิ เบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

คณะเดินทางไปยังโครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน มูลนิธิชัยพัฒนา โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ซึ่งมีพระราชกระแสให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาจัดสรรพื้นที่ที่ศาสตราจารย์ดร.มนู อมาตยกุล น้อมเกล้าฯ ถวาย จำนวน 15 ไร่ 3 งาน 30.6 ตารางวา ในตำบลบ้านพระ อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ในส่วนของสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดทำโครงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (Hydroponics) ในพื้นที่ของมูลนิธิฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จำนวน 3 ไร่ โดยจัดทำเป็นโครงการนำร่องและแปลงสาธิตการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินต้นทุนต่ำ ด้วยการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ยูคาลิปตัส กระเบื้องเก่า มาดัดแปลงเป็นโต๊ะปลูกผัก เพื่อผลิตผักปลอดภัยได้มาตรฐาน พร้อมทั้งขยายผลส่งเสริมให้แก่ประชาชนที่สนใจ คณะครูยังได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำในกิจกรรมแปลงร่างเมล็ดพันธุ์เป็นแปลงผักไม่ใช้ดินอีกด้วย 

จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เดินทางสู่อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เพื่อร่วมพิธีเปิดโครงการ “ทิพย สืบสาน รักษา       ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 9”  และร่วมรับฟังการบรรยายถึงประวัติความเป็นมาของโครงการ ซึ่งโครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ถือเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี รวมถึงช่วยป้องกันน้ำท่วม และรักษาระบบนิเวศในแม่น้ำปราจีนบุรีและบางปะกง อ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่

สำหรับผู้ร่วมกิจกรรมตามรอยพระราชาทุกคนยังได้รับชุดหนังสือภาษาอังกฤษ “King Bhumibol Adulyadej of Thailand” จำนวน 3 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติพระราชจริยวัตร และพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นำศึกษาเรียนรู้และนำไปถ่ายทอดแก่นักเรียนผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักพระองค์ท่านและสามารถสื่อสารให้ชาวต่างชาติฟังได้ว่า ทำไมคนไทยถึงรักในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งยังให้ข้อคิดในการใช้ชีวิตเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม

ซึ่งหลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดยนายอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา , “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากหนังสือชุด King Bhumibol Adulyadej of Thailand ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป