ถอดรหัสยานแม่ “เอสซีบี เอกซ์” ย้อนรอย 5 เดือน กับภารกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่  เผย 3 รูปแบบลงทุน มุ่งสร้างธุรกิจใหม่ โฟกัสเทคโนโลยีการเงินและแพลตฟอร์ม  วางรากฐานสร้างการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัดรองรับอนาคต 

0
1519

หลังการประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 และได้รับมติอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้ยุทธศาสตร์ยานแม่ “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” (SCBX) มีความเคลื่อนไหวที่สะท้อนแนวทางการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีการเงินและแพลตฟอร์มออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดตัวบริษัทลูกใหม่ ๆ เช่น AISCB, SCB TechX, Alpha X เป็นต้น รวมถึงการขับเคลื่อนผ่านรูปแบบการลงทุน อาทิ การจัดตั้งกองทุนร่วมทุน หรือ Venture Capital ที่มุ่งเน้นการลงทุนใน Disruptive Technology ด้านบล็อกเชน สินทรัพย์ดิจิทัล เทคโนโลยีด้านการเงิน และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงทั่วโลก

จากยุทธศาสตร์ “ตีลังกา” สู่ “ยานแม่ SCBX

ย้อนกลับไปเมื่อ 5 – 6 ปีก่อน ธนาคารไทยพาณิชย์  เริ่มกลยุทธ์ “ตีลังกา” จากมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน เกิดเป็นกระแส Digital Disruption ที่หลายบริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างตระหนักและเร่งปรับตัวให้ทันเพื่อพาองค์กรให้อยู่รอด รวมถึงธุรกิจธนาคารที่ต้องเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพื่อต่อกรกับผู้เล่นหน้าใหม่จากบริษัท Tech Company ทั้งในประเทศและต่างชาติ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จนมาสู่ยุทธศาสตร์ “ยานแม่” ด้วยการจัดตั้ง “SCBX” เพื่อนำบริษัทในกลุ่มไทยพาณิชย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ธนาคาร      ไทยพาณิชย์ และบริษัทต่าง ๆ ให้มุ่งเน้นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง และตอบรับโลกแห่งอนาคต มุ่งสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีการเงินระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเกิน 1 ล้านล้านบาท และฐานลูกค้ากว่า 200 ล้านคน

แตกธุรกิจใหม่ ผ่าน 3 รูปแบบลงทุน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ประกาศยุทธศาสตร์องค์กรครั้งสำคัญ กับการสร้าง “ยานแม่” ของกลุ่ม สิ่งที่ “SCBX” ได้ขับเคลื่อนแสวงหาโอกาสใหม่กับธุรกิจที่มีผลกำไรสูง และมีอนาคต ด้วยการลงทุนใน 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. บริษัทที่ SCBX จัดตั้งขึ้นมาเองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจการเงินส่วนบุคคลและสินเชื่อ โดยการจัดธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เช่น Auto X เพื่อทำธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ และ Card X เพื่อดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล
  2. บริษัทใหม่หรือธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการลงทุนของบริษัทในเครือ เช่น SCB 10X ที่จัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์ม หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย และ Token X ให้บริการเกี่ยวกับธุรกิจโทเคนดิจิทัลแบบครบวงจร
  3. SCBX ร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ เช่น AISCB บริษัทร่วมทุนกับเอไอเอส เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล Alpha X บริษัทร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจ มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ รองรับลูกค้ากลุ่มพรีเมียม-ลักชัวรี่ และ SCB TechX บริษัทร่วมทุนกับปับลิซีส เซเปียนท์ เพื่อให้บริการธุรกิจในรูปแบบพัฒนาระบบดิจิทัลเทคโนโลยี และธุรกิจด้านแพลตฟอร์ม เป็นต้น

ซึ่งการลงทุนทั้ง 3 รูปแบบจะโฟกัสที่เทคโนโลยีการเงิน แพลตฟอร์ม และสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นหลัก รวมถึงธุรกิจใหม่ที่มีอนาคตภายใต้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับทางการ โดยไม่ได้จำกัดตัวเองว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทยหรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น เพราะโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคนี้ทำให้มีลูกค้าเป้าหมายของกลุ่มไทยพาณิชย์กระจายอยู่ทั่วโลก”

ซึ่งแผนการขยายตัวไปยังธุรกิจใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 5 เดือนที่ผ่านมานั้น SCBX ยังทำหน้าที่เป็น “ยานแม่” ที่ดูแลการทำ Business Development และการทำ Merger an Acquisition ของกลุ่มฯ พร้อม ๆ  ดำเนินการคู่ขนานไปพร้อม ๆ กับกระบวนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มไทยพาณิชย์  โดยกระบวนการถัดไป ผู้ถือหุ้นทุกรายจะสามารถทำการแลกหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นหุ้นของบริษัท SCBX ได้ และภายหลังการแลกหุ้นดังกล่าว หุ้นของบริษัท SCBจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน