ถอดรหัสความสำเร็จของเกษตรกร สร้างตัวเองเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืนทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 26

0
549

บทพิสูจน์ความสำเร็จของการเดินทางสู่ความเป็นเศรษฐีอย่างยั่งยืน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงด้วยการปฏิบัติตามทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น ซึ่งการสร้างสมดุลให้ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การพออยู่พอกิน หากแต่มุ่งสู่การสร้างความยั่งยืนด้วยการพัฒนาชุมชนสร้างให้เกิดความแข็งแรง จนขยายตัวไปจนถึงการเชื่อมโยงกับองค์กรใหญ่

เพื่อสร้างให้เกิดธุรกิจที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นกลุ่มเป้าหมาย ผู้บริหารโรงเรียน ครูอาจารย์ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่สนใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการลงมือทำกิจกรรมในห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอยู่ถึง 5,151 โครงการในพระราชดำริทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย

ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 26 พาผู้บริหารโรงเรียน ครูอาจารย์ ร่วมศึกษาโมเดลความสำเร็จของเกษตรกร ที่สร้างตัวอย่างอย่างยั่งยืน ณ โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงให้แนวทางโดยยึดหลัก “บวร” และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อให้ราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินกับธรรมชาติอย่างเกื้อหนุนกันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและจัดระเบียบชุมชน การพัฒนาด้านสังคม ขยายต่อเนื่องไปจนถึงงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชหลายชนิด มีการเลี้ยงสัตว์ เกิดการรวมกลุ่มอาชีพต่างๆ การจัดหาอาชีพเสริมให้กับกลุ่มชาวบ้านเพื่อขยายการเรียนรู้ รวมถึงการช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น โครงการ ฯ พาไปเยี่ยมชมและศึกษาโมเดลความสำเร็จของไร่นาสวนผสมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนายชรินทร์ กลั่นแฮม ที่ยึดหลักการพัฒนาตามแนวทางของโครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการบูรณาการของภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ พัฒนาที่ดินทำกินให้มีความอุดมสมบูรณ์จนมีความเหมาะสมสำหรับการ “ปลูกพืชทุกชนิดที่กิน กินพืชทุกชนิดที่ปลูก” และสามารถขายผลผลิตจากการทำไร่นาสวนผสม ช่วยให้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีเหลือเก็บสำหรับอนาคตจนเป็นเศรษฐีได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กิจกรรมการลงพื้นที่ปลูกต้นมะลิ จำนวน 399 ต้น ณ ศูนย์บริการการพัฒนาสวนไม้ดอกหอมไทย มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นกิจกรรมที่ครูอาจารย์ได้ลงมือปลูกร่วมกันเพื่อน้อมถวายและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

พร้อมทั้งเข้าร่วมกิจกรรม Mind Spa เปิดหัวใจสู่การเรียนรู้ รับฟังบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี รศ. นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และร่วมกิจกรรม Workshop ถอดรหัสนวัตกรรมศาสตร์พระราชา เรียนรู้นวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 Interactive Board Game เพื่อนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่และการพัฒนานวัตกรรมแบบก้าวกระโดดสำหรับองค์กรต่อไป

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความภาคภูมิใจในโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา คือการที่เราได้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมกิจกรรม และนำไปต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อสังคม ซึ่งในการทำกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการเยี่ยมชมและศึกษาโครงการของภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จ จากการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจในเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถสร้างให้เกิดธุรกิจที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นบทพิสูจน์ของหลักการ “ทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น” ที่สร้างความเป็นเศรษฐีได้อย่างยั่งยืน

ดร. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี กล่าวว่า “การได้ลงพื้นที่เยี่ยมโครงการในพระราชดำริ ที่มีถึง 5,151 โครงการทั่วประเทศ ช่วยเปิดโลกกว้างให้เราได้เรียนรู้จากห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยให้เราได้พัฒนาความรู้ และได้พัฒนาความคิด Growth Mindset ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการเริ่มต้นพัฒนาตนเองโดยการเรียนรู้และฝึกฝนด้วยความพยายามไม่ยอมแพ้แม้ท่ามกลางอุปสรรค อีกทั้งเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตถือเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN SDGs ภายในปี 2030

ดังนั้นสร้างความเข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้คนไทยได้เข้าใจวิถีความยั่งยืนและนำพาให้พึ่งพาตนเองได้”โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักโครงการและจัดการความรู้ (OKMD) มูลนิธิธรรมดี กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเยี่ยมเยือนโครงการในพระราชดำริ และช่วยส่งเสริมให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น สำหรับผู้บริหารสถานศึกษาผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในการทรงงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้มีความสุขและมีความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งยังเพื่อสนองตามพระปฐมบรมราชโองการ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ “เราจะสืบสาน รักษา ต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”