ดีพร้อมออกสตาร์ทภาคธุรกิจ เปิดนโยบาย “ดีพร้อมแคร์” หนุนทุกปัจจัยการเติบโต  ผ่านหลากฟังก์ชัน “ตลาด เทคฯขั้นสูง เครือข่ายนานาชาติ” พร้อมโกออนทันทีในปี 65

0
1403

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม เปิดแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” ซึ่งเป็นแนวทางในการยกระดับและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ตรงกับทุกปัญหาและความต้องการ ด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเจาะลึกและเข้าถึงปัญหาของผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเครื่องมือและโครงการของดีพร้อม การปฏิรูปศูนย์และโครงการต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาการผลิต และการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และารเชื่อมโยงพันธมิตรในทุกระดับเพื่อบูรณาการทำงานจากทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย และสร้างมูลค่าไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท

    ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 หลายธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มมีการฟื้นตัวและส่งสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้น โดยกลุ่มที่สำคัญอย่าง MSMEs พบว่าวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) มีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็วประมาณร้อยละ 8  เนื่องด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม (SEs) ยังคงฟื้นตัวได้ช้า โดยมีปัจจัยสำคัญคือขาดเงินทุนหมุนเวียน ส่วนในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง (MEs) ยังคงฟื้นตัวได้แต่เป็นไปอย่างช้า ๆ ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งมีแรงบวกจากภาคการส่งออก และเงินทุนหมุนเวียนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทางด้านอุตสาหกรรมในภาพรวมพบว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมสามไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 7.4 และภาคการผลิตกำลังกลับมาฟื้นตัวเนื่องด้วยตลาดส่งออกขยายตัวจากมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยประเภทของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการผลิตในภาคการเกษตรเนื่องด้วยอัตราความต้องการในการบริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง 

 

   ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น กรมส่งเสริมอุตสาหกกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อมได้เล็งถึงโอกาสในการเร่งฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประกอบการหลังจากได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา และ
ดีพร้อมได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงจากการสำรวจปัญหา ความต้องการ และการรับฟังความคิดเห็นของเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565ภายใต้ นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ดังนี้

  • Customization – การวิเคราะห์ผลกระทบ ความเสี่ยง หรือปัจจัยโดยรวมที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง โดยจะนำศาสตร์ Shindan  ซึ่งเป็นศาสตร์การวินิจฉัยจากญี่ปุ่นมาช่วยในการเจาะลึกต้นตอของปัญหาธุรกิจ พร้อมทั้งช่วยออกแบบหรือ สรรหาเครื่องมือ เทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับระดับของสถานประกอบการ ตลอดจนวิเคราะห์และ
    ช่วยทำแผนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามบริบทที่แท้จริง
  • Accessibility – เนื่องด้วยการกระจุกตัวของของหน่วยงานด้านความช่วยเหลือภาคธุรกิจ และการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ยังคงอยู่ในส่วนกลาง ตลอดจนการเริ่มกระจายตัวของผู้ประกอบการที่ขยายไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น ดีพร้อมจึงได้ขยายช่องทางการเข้าถึงทั้งที่เป็นเครื่องมือ บุคลากรในการให้คำปรึกษา รวมถึงโครงการและศูนย์การส่งเสริมไปสู่ระดับภูมิภาคเพื่อให้ทุกกลุ่มธุรกิจ และวิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงการสนับสนุนได้อย่างเท่าเทียม โดยมีตัวอย่างเช่น  Diprom E-service หรือการนำระบบ Online มาใช้ในการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งในเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้ การให้คำปรึกษาทางไกล ฯลฯ ตลอดจนการจัดมหกรรมในด้านธุรกิจที่จะขยายไปสู่ระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง  
  • Reformation – เนื่องด้วยบริบทการดำเนินธุรกิจในยุค New Normal ที่ส่งผลให้การประกอบธุรกิจต้องตระหนักและมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหาที่พบเจอของผู้ประกอบการ เช่น เทคโนโลยี การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับแต่ละตลาด หรือแม้แต่กระทั่งความสามารถของแรงงานในแต่ละภูมิภาคที่กลับคืนถิ่น ดีพร้อมจึงตระหนักและได้ปฏิรูปกลไกการดำเนินงานในภาพรวมของทุกโครงการ และการดำเดินงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับยุค New Normal หรือเศรษฐกิจวิถีใหม่ ตลอดจนเพิ่มบทบาทของศูนย์ฯ เพื่อทำใหHผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างครบวงจร 
  • Engagement – เป็นการอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านทั้งภาครัฐและเอกชน มาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้นในรูปแบบแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานเครือข่าย ตลอดจนการเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านรูปแบบการจับคู่ธุรกิจ การทดสอบตลาด อีกทั้งยังได้ดึงความร่วมมือจากนานาชาติมาร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เช่น สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) รวมถึงมีแผนจะขยายความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไปประเทศอื่น ๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของไทยได้มีโอกาสก้าวสู่ตลาดโลกที่กำลังจะมีการเปิดประเทศมากขึ้น ในอนาคต

ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายใต้นโยบายดังกล่าวดีพร้อมได้วางรูปแบบและโปรแกรมสนับสนุนภาคธุรกิจ4 ด้านประกอบด้วย ด้านการสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วย โครงการ CIV+ การยกระดับสินค้าและบริการในชุมชนท่องเที่ยวให้มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศรวมถึงสามารถดึงดูดการจ้างงานได้โครงการถุงดีพร้อมช่วยธุรกิจชุบชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นการทดสอบตลาดผ่านถุงดีพร้อมและช่วยผู้ได้รับผลกระทบในวิกฤต การส่งเสริม E-Commerce 3.0 ในการยกระดับการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์พัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งโครงการ Logistics-for-เกษตรอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนา
ระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง อีกทั้งยังจะมีการดึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการนดำเนินธุรกิจด้วยการนำ Digital SI-for-SME โดยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านออโตเมชั่นมาสนับสนุนการประกอบการของเอสเอ็มอีเพื่อเป็นการสร้างธุรกิจชที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ S curve-for-SME  ด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีการยกระดับ  ITC-2-OEM ศูนย์ปฏิรูปเกษตรอุตสาหกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ OEM โดยจะเชื่อมโยงผู้รับจ้างผลิตเพื่อให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านศูนย์ ITC สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมถึงการขยายเครือข่าย IDC-2-Thai เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ ตลอดจนศูนย์ทดสอบคุณภาพมาตรฐานและรับรองแหล่งกำเนิดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร สินค้าฮาลาล กาแฟ ผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจใหม่ 3ก (กัญชง กัญชา กระท่อม) เครื่องเรือน และเซรามิก การสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมธุรกิจในไทย ในโครงการ MIT และ SME-GP เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโครงการ Thailand Textile Tag ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงสินเชื่อดีพร้อมเปย์เพื่อให้ธุรกิจ SME มีเงินทุนหมุนเวียน และปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ และด้านสุดท้ายคือ การสนับสนุนศักยภาพบุคลากร ผ่านการปั้นนักธุรกิจวิถีใหม่ในโครงการNEC วิถีใหม่ โครงการ “ปลูกปั้น” คอร์สอบรมคนดีพร้อม และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ+ : Diprom mini MBA 

ทั้งนี้ ในปี 2565 จะดำเนินงานภายใต้งบประมาณการทำงาน 527.68 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

  

 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6860 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.diprom.go.th/th/ หรือ www.facebook.com/dipromindustry