ซูเปอร์บอร์ด กสทช.จัดเต็ม! เตือน กสทช.รักษาการตื่นจากหลับเบรกดีลควบรวมหากยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อนระวังเจอ 157 แนะรอ กสทช.ชุดใหม่โม่แป้งเอง

0
1244

นาย ณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. (ซูเปอร์บอร์ด) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธาน กสทช. เรื่องการขอให้ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่กฎหมายบัญญัติ และยกเลิกประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค

ทั้งนี้ ซูเปอร์บอร์ด กสทช.ได้เสนอให้ กสทช.ยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 แล้วนำประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 กลับมาใช้เพื่อออกประกาศใหม่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน ในการประกอบการพิจารณาดำเนินการเพื่อมีคำสั่งไม่ให้มีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค

ชี้ควบรวมทารู-ดีแทคขัดต่อกฎหมาย

นายณภัทรระบุว่า ในฐานะของนักกฎหมาย นักบริหาร และกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. ที่มีบทบาทหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ในการตรวจสอบการทำงานของสำนักงาน กสทช. ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือทรู กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่กำลังจะควบรวมกิจการกันนั้น ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก

เนื่องจากเป็นการควบรวมกิจการของธุรกิจหลักที่เป็นโครงสร้างการสื่อสารของประเทศที่มีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้าน อีกทั้งยังมีการตั้งคำถามจากสังคมในหลายกรณี โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนโดยตรง คือ การมีอำนาจเหนือตลาด ใช้กลยุทธ์การแข่งขันที่เอาเปรียบผู้บริโภค ทำให้ค่าบริการสูงขึ้น คุณภาพการให้บริการต่ำลง กดดันผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งที่ผ่านมากสทช. ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างที่ควรจะเป็น

” การดำเนินการของ กสทช. ต่อกรณีทรู-ดีแทค เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยและไม่ชัดเจน คำถามสำคัญก็คือ 1.การควบรวมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม ประชาชน และการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยหรือไม่ ซึ่งในฐานะซูเปอร์บอร์ด กสทช. เห็นว่า การควบรวมดังกล่าวมีนัยยะสำคัญที่ขัดต่อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2553 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 รวมถึงประกาศฉบับอื่นๆที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ มาตรา 60 ระบุชัดเจนว่า “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน การนำคลื่นความถี่มาประกอบกิจกาจต้องยึดหลักการที่ว่า ต้องทำเพื่อประชาชน สาธารณะ และประเทศชาติ หากดำเนินการสิ่งใดไปแล้วขัดกับหลักการและกฎหมาย กสทช.ชุดปัจจุบันเข้าข่ายมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะกระทำผิดกฎหมาย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

“การยื่นหนังสือต่อ กสทช. ในครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานครั้งสำคัญที่จะกระตุ้นเตือนให้ กสทช. ได้พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ที่มีในการตัดสินใจเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ดังนั้นหากไม่มีการพิจารณาให้รอบคอบถูกต้องตามหลักการและครอบคลุม รวมถึงการเชิญชวนภาคส่วนต่างๆ ทั้งนักวิชาการ สถาบันการศึกษา สภาคุ้มครองผู้บริโภค มาร่วมกันศึกษาถึงข้อมูล วิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงของผลกระทบจากการแข่งขันและผลที่เกิดขึ้นให้ครบถ้วน สุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชนที่ต้องแบกรับค่าบริการที่สูงขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือผู้บริโภค พร้อมทั้งกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศที่แสดงถึงหลักการที่ขัดแย้งกับการแข่งขันเสรี”

ย้ำชัดอนุมัติควบรวมไม่ได้
ซูเปอร์บอร์ด กสทช.ตอกย้ำด้วยว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พรบ องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ซึ่งตัวบทหลักคือประกาศ กสทช.ปี 2553 และมีฉบับที่แก้ไขในปี 2561 วึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน แต่สิ่งที่เรากำลังคุยกันหลักการนี้ไม่มีแก้ อย่างเช่น กรณีที่ต้องรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย หลักการที่กฎหมายเขียนไว้ในมาตราที่ 27 ที่เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องดำเนินการเรื่องพวกนี้ เพื่อป้องกันการควบรวม การครอบงำ การทำให้เรื่องของตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคเกิดขึ้น เป็นหน้าที่ที่เขียนไว้ในกฎหมาย และตัว พรบ.กิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็มีมาตรการที่เขียนไว้

นอกจากนั้นยังมีกฎหมายลูกที่เรียกว่าประกาศตาม พรบ กิจการโทรคมนาคม ปี 2544 ก็ยังมีประกาศที่เกี่ยวข้องอีก ซึ่งตัว Key สำคัญจริงๆ คือ ประกาศที่ออกเมื่อปี 2549 มีกรอบหลักการชัดเจนว่า จะเป็นบทเฉพาะกาลในการคุ้มครองเรื่องนี้ นี่คือ key สำคัญ แต่ท่านก็ไม่ทำ ดังนั้นถ้าท่านไม่ทำ พื้นฐานความคิดเห็นในฐานะนักกฎหมายคือ ท่านกำลังผิด ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดเรื่องนี้เลย เพราะเรื่องอย่างนี้เหมือนกรณีชนคนที่ทางม้าลาย ที่ไม่อยากเกิดขึ้นอีก

แนะควรรอ กสทช.ชุดใหม่พิจารณา
นายณภัทร ยังกล่าวด้วยว่า ในความเห็นส่วนตัวนั้นเห็นว่า กรณีการควบรวมทรู-ดีแทค’ ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ชุดใหม่ ในการตัดสินใจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการโปรดเกล้าฯ “ถ้าว่ากันด้วยหลักการและเหตุผล การทำงานของ กสทช.ชุดนี้ต้องรอคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่ที่มีการแต่งตั้งแล้ว รอแค่กระบวนการโปรดเกล้าฯเท่านั้น เพียงแต่คณะกรรมการชุดนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ของท่าน อย่าทำผิดกฎหมาย และท่านต้องสื่อสารให้สาธารณะรับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ “

นอกจากนี้ยังมีประเด็นย่อยในกระบวนการทำงานของ กสทช. ที่มีหลักการกฎหมายที่เขียนไว้ว่าต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่กรณีนี้ กระบวนการรับฟังสาธารณะท่านเชิญแต่โอเปอเรอเตอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้เชิญภาคประชาชนเข้าไป ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นมาตรา 28 เขียนไว้ต้องทำ

“สิ่งที่ผมเตือนท่าน คือ ท่านกำลังทำผิดกฎหมาย ผมบอกว่า พี่ไฟแดงนะ แต่พี่ยังฝ่าไฟแดง ก็แปลว่าพี่ทำผิดกฎหมาย อย่างที่ 2 คือ ถ้าพี่ไปชนใครเข้า ก็ผิดอีกเด้ง ซึ่งเราก็ทำได้แค่เตือนเพราะเราไม่ใช่จราจร แต่อย่างน้อยที่สุดสังคมที่เกี่ยวข้องก็จะมองเห็น จากกรณีดังกล่าว หรือแม้แต่กรณีที่มอเตอร์ไซค์วินวิ่งบนทางเท้า ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองนี้ แก้ด้วยหลักการของกฎหมายเหรอ ? คงไม่ใช่ แต่ต้องแก้ที่จิตสำนึกของคนขับมอเตอร์ไซค์ ว่าฟุตบาทไม่ใช่ที่ที่รถจักรยานยนต์ไปวิ่ง ฟุตบาทเป็นทางเท้าให้คนเดิน จิตสำนึกแบบนี้เป็นจิตสำนึกที่ทำให้คนต้องปฏิบัติ ไม่ต่างอะไรกับคนเมาแล้วขับ จึงอยากให้ กสทช.ได้ทบทวน ถึงกรอบอำนาจและหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างเต็มความสามารถ ในการพิจารณาการควบรวมของทรู และดีแทค เพื่อไม่ให้เป็นข้อกังขาของสังคม ซึ่งท่านกำลังทำผิดกฎหมายตามบทบัญญัติของทั้ง พรบ.กสทช และรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 60 ในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ รวมถึงในมาตรา 157 ในเรื่องของละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง”