บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม (สอน.) ลงนามความร่วมมือโครงการการใช้ประโยชน์ใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงทดแทนเพื่อลดปัญหาอ้อยไฟไหม้และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ก่อให้เกิด PM 2.5 ด้วยการรับซื้อยอดและใบอ้อย เสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย และนำไปเป็นพลังงานทดแทนในโรงงานปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ สอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งคาดว่าจะสามารถรวบรวมเศษวัสดุเหลือใช้จากไร่อ้อยได้ประมาณ 210,000 ตันต่อปี พร้อมขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคทั่วประเทศ
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และภาวะโลกร้อนจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร เช่น ยอดและใบอ้อย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ในการสนับสนุนและผลักดันเชิงนโยบายเพื่อลดการเผายอดและใบอ้อยในพื้นที่เพาะปลูก จังหวัดสระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และลพบุรี อีกทั้งยังเป็นการเสริมรายได้ให้เกษตรกรโดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวในไร่อ้อย เพื่อนำไปเป็นพลังงานทดแทนในอุตสาหกรรมมากขึ้นในอนาคต และสร้างความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอย่างยั่งยืน”
นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า “คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายส่งเสริมศักยภาพการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย และมีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากมลพิษการเผาอ้อย ซึ่งโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ภาครัฐให้ความสำคัญและเป็นความหวังในการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2564 ให้เหลือร้อยละ 20 และมีปริมาณอ้อยสดร้อยละ 80 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้นโดยจัดหาเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการตัดอ้อยสด เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากการนำวัสดุเหลือใช้จากไร่อ้อยมาเป็นพลังงานทดแทน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม”
ด้านนายปัญญา โสภาศรีพันธ์ ผู้อำนวยการ–ธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า “ CPAC ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างคุณค่าร่วมทางธุรกิจและสังคม “Creating Share Value” (CSV) ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยบรรเทาปัญหาของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมจากการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบไม่ถูกวิธี ผ่านการใช้ประโยชน์จากหม้อเผาปูนซีเมนต์ที่สามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้เหล่านี้มาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนในการผลิตปูนซิเมนต์โดยไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะดำเนินการภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC ในการเปิดจุดรับซื้อเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทั้งนี้มีการรับซื้อเศษยอดและใบอ้อยผ่านโครงการนี้ 4 จุด ที่หน้าโรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดอยุธยา สระบุรี และหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพคในพื้นที่ปลูกอ้อยเป้าหมาย ในราคาที่เหมาะสม ณ จุดรับซื้อ เสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร พร้อมใช้เทคโนโลยีการบีบอัดเศษวัสดุที่ทันสมัยให้เป็นเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการขนส่งเที่ยวกลับ (Backhauling Management) ของการขนส่งปูนซีเมนต์ เพื่อนำเม็ดพลังงานชีวมวล (Energy Pellet) ไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในการผลิตปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลัก เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และมีแผนขยายจุดรับซื้อหน้าโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จซีแพค ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรรายเล็กและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน”
ซีแพค และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ภายใต้แบรนด์ Smart Green Solution by CPAC จะช่วยเชื่อมต่อทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เสริมรายได้ให้เกษตรกรไทย อีกทั้งยังช่วยลด PM 2.5 จากการเผาอ้อย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณศุมิตรา ศรีพิเศษ หมายเลขโทรศัพท์ 093–542–4594