“ซัยโจ เด็นกิ” ชี้แจงกรณีปัญหาการติดตั้งระบบปรับอากาศอาคารกรมสรรพากร บริษัทฯ ได้ติดตั้งถูกต้องตาม TOR และกรมสรรพากรได้ตรวจรับงานครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ชี้ปัญหาเกิดจากการดัดแปลงอุปกรณ์และการบำรุงรักษาของผู้รับเหมาดูแลการซ่อมบำรุง

0
525

“ซัยโจ เด็นกิ” ชี้แจงกรณีปัญหาการติดตั้งระบบปรับอากาศภายในอาคารกรมสรรพากร บริษัทฯ  ได้ติดตั้งถูกต้องตรงตามที่กำหนดใน TOR และกรมสรรพากรได้ตรวจรับงานครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 แล้ว แต่เนื่องจากสัญญาที่บริษัทฯ ทำกับกรมสรรพากรเป็นเพียงสัญญาปรับปรุงติดตั้งระบบปรับอากาศ ส่วนสัญญาบำรุงรักษาในส่วนของระบบปรับอากาศ กรมสรรพากรได้ทำสัญญากับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งดูแลระบบอาคารทั้งหมด ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟท์ ดับเพลิง กำจัดน้ำเสีย ฯลฯ ปัญหาที่เกิดมาภายหลัง บริษัทฯ เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่า มีการดัดแปลงอุปกรณ์สำคัญของระบบปรับอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อน การบำรุงรักษาที่ผิดวิธี หรือขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ร้องขอกรมสรรพากรให้แก้ปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุ โดยบริษัทฯ ยินดีให้การสนับสนุนและแนะนำเพื่อการแก้ปัญหาโดยรวดเร็วต่อไป

นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีปัญหาการติดตั้งระบบปรับอากาศภายในอาคารกรมสรรพากร บริษัทฯ ขอชี้แจง ดังนี้
1. สภาพอาคารกรมสรรพากรมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากอาคารไม่มีที่วางเครื่องระบายความร้อน (Outdoor Unit) โดยต้องวางเครื่องทั้งหมดอยู่ในห้องระบายความร้อนที่อยู่ภายในอาคาร ซึ่งมีบริเวณติดกับห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกชั้น ห้องระบายความร้อนภายในอาคารดังกล่าวมีสภาพแออัดและมีช่องตะแกรงให้ลมเข้าออกเพียงจุดเดียว รวมถึงตำแหน่งห้องระบายความร้อนดังกล่าวยังถูกจัดให้อยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งทิศดังกล่าวจะมีลมธรรมชาติพัดสวนทางเข้ามาในอาคาร ทำให้ลมร้อนที่ระบายจากเครื่องระบายความร้อนบางส่วนสวนกลับเข้ามาในอาคารอยู่เสมอ ทำให้การระบายความร้อนออกจากอาคารดังกล่าวทำได้ยาก และกรมสรรพากรทราบถึงปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้น จึงกำหนดอุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนใน TOR ไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนโดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิเพียง 35 องศาเซลเซียสเท่านั้น

2. บริษัทฯ ยื่นประมูลงานปรับปรุงระบบปรับอากาศในอาคารดังกล่าวในราคา 191,844,975.85 บาท ต่ำกว่าราคากลางซึ่งกำหนดไว้ที่ 321,374,755 บาทประหยัดงบประมาณให้แก่ราชการถึง 130,000,000 บาท

3. ต่อมา บริษัทฯ เข้าดำเนินการปรับปรุงระบบปรับอากาศตามสัญญา โดยติดตั้งตามข้อกำหนดใน TOR แต่ระหว่างทดสอบระบบการใช้งาน รองศาสตราจารย์ สุรชัย บวรเศรษฐนันท์ วิศวกรผู้ควบคุมงาน พบว่า อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนในห้องดังกล่าวสูงถึง 56 องศาเซลเซียส (ขณะที่ TOR กำหนดไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส) ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆเสียหายเป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักเกิดจากพื้นที่ในการตั้งเครื่องระบายความร้อนตามข้อจำกัดของอาคาร บริษัทฯ จึงแก้ไขตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงาน โดยเพิ่มระบบอุปกรณ์เกินกว่าที่กำหนดใน TOR รวมเป็นเงินกว่า 20,000,000 บาท โดยเฉพาะระบบมอเตอร์พัดลมขนาดใหญ่ เพื่อผลักอากาศร้อนออกจากอาคารทุกชั้น และระบบลดความร้อนด้วยน้ำ (Spray Evaporative Cooling) ระบบจึงจะสามารถทำความเย็นได้สำเร็จ รวมถึงสามารถผ่านการทดสอบในภาวะวิกฤติ คือทำอุณหภูมิภายในห้องได้ต่ำถึง 15 องศาเซลเซียส ขณะที่ตั้งอุณหภูมิภายนอกสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานถึง 2 เดือน จนกระทั่งข้าราชการที่ปฏิบัติงานในอาคารกรมสรรพากรมีหนังสือร้องขอให้บริษัทฯ พิจารณาปรับอุณหภูมิภายในห้องในสูงขึ้น และบริษัทฯ ได้ส่งมอบงานแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2562

4. ทั้งนี้ ระบบปรับอากาศดังกล่าวเป็นระบบปรับอากาศที่มีความละเอียดอ่อนทางเทคโนโลยีเนื่องจากเป็นระบบที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดของอาคารกรมสรรพากรโดยเฉพาะ รวมถึงเป็นระบบปรับอากาศอัจฉริยะ (IoT) โดยบริษัทฯ สามารถพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ให้ทำงานเชื่อมระบบปรับอากาศทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาความร้อนในอาคารนี้ได้สำเร็จ ยืนยันโดยผู้บริหารผู้อำนวยการระดับภูมิภาค Asia-Pacific จากบริษัท เดลล์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอันดับต้นๆของโลก เดินทางมาร่วมดูงานในอาคารกรมสรรพากรนี้ ดังนั้น ระบบปรับอากาศดังกล่าวจึงจำเป็นต้องใช้วิศวกรที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบดังกล่าวเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษา

5. เมื่อเกิดปัญหาระบบปรับอากาศ หลังจากที่บริษัทฯ ได้ส่งมอบงานราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาระบบปรับอากาศดังกล่าว ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังคงให้การช่วยเหลือซ่อมแซมระบบปรับอากาศให้อาคารดังกล่าวหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 บริษัทฯ ได้เสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมระบบปรับอากาศเกือบทั้งอาคารร่วม 10 ล้านบาท รวมถึงการติดตั้งระบบไฮบริดและปั๊มน้ำที่สูญหายหรือถูกดัดแปลงเป็นส่วนใหญ่การตัดต่อดัดแปลงอุปกรณ์ที่เป็นสาระสำคัญดังกล่าว แม้จะทำให้ความรับผิดชอบในการรับประกันอะไหล่อุปกรณ์ตามสัญญาสิ้นสุดลงก็ตาม แต่บริษัทฯ ยังคงให้การช่วยเหลือจนถึงครั้งสุดท้ายในเดือนมิถุนายน ปีที่ผ่านมา

6. สาเหตุสำคัญคาดว่าน่าจะเกิดจากความไม่รู้, ความไม่เชี่ยวชาญระบบปรับอากาศที่มีซับซ้อนดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีกจนถึงปัจจุบัน เนื่องจาก TOR บริหารงานอาคารและดูแลบำรุงรักษาระบบต่างๆภายในอาคารกรมสรรพากร เป็นการรวมทุกระบบอยู่ในสัญญาเดียว ประกอบไปด้วย ระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟท์ ดับเพลิง กำจัดน้ำเสีย ฯลฯ โดยมีระบบปรับอากาศอยู่ในส่วนประกอบหนึ่งใน TOR ดังกล่าว ซึ่งยากที่บริษัทเพียงบริษัทเดียวจะสามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในทุกระบบของอาคารดังกล่าวได้ เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กรมสรรพากรควรจะแยกงานระบบต่างๆของอาคารออกจากกัน เพื่อให้กรมสรรพากรได้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาช่วยดูแลงานบำรุงรักษาอาคาร จะสามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้