ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่พบปะผู้อยู่อาศัยในชุมชนบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) ต้นแบบชุมชน (แนวราบ) ของการเคหะแห่งชาติ โดยมี นางวิไล มณีประสพโชค รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายสมเจต ประพันธ์บัณฑิต ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปถึงแนวทางการบริหารชุมชนให้มีความเข้มแข็ง น่าอยู่น่าอาศัยอย่างยั่งยืน ณ ศูนย์ชุมชนบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) ตำบลวังหว้า อำเภอแกลง
จังหวัดระยอง
นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ชุมชนบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) เป็นชุมชนต้นแบบแนวราบของการเคหะแห่งชาติที่ถือว่ามีมาตรฐานสูง มีผู้นำชุมชนที่เก่ง เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรง คิดจริง ทำจริง สามารถเปลี่ยนขยะเป็นรายได้เสริมให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม จนยกระดับเป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นชุมชนเข้มแข็ง ที่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนมีจุดเด่นในด้านการบริหารจัดการขยะอย่างชัดเจน ซึ่งรับรองได้จากรางวัลที่ได้รับมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2559 และปี 2561 ประเภทอาคารแนบราบ ประกาศนียบัตร รับรองให้เป็นชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดการขยะที่ต้นทางของจังหวัดระยอง รางวัลชนะเลิศจากการประกวดชุมชน Zero Waste ชุมชนปลอดขยะของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ อีกหลายรางวัล ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ของคณะศึกษาดูงานต่างๆ อีกทั้งยังได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะของประเทศไทย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เรื่องของผลกระทบของขยะทะเล (impact of marine debris) การจัดการขยะจากต้นทางถึงปลายทาง (Land-sea waste management) Thailand plastic roadmap การรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว การจัดการขยะโดยชุมชนเอื้ออาทรวังหว้า จังหวัดระยอง และทุ่นกักขยะ SCG – DMCR litter trap
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ยังได้เยี่ยมชมการผลิตกระเป๋าจักสานพลาสติกและประดิษฐ์ดอกไม้จากขยะชุมชนจากกลุ่มแม่บ้าน การคัดแยกขยะรีไซเคิลธนาคารขยะ/ ขยะอินทรีย์ฐาน การจัดการน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ EM การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และการทำกิจกรรมปุ๋ยไส้เดือน โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชาในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทรจังหวัดระยอง (วังหว้า) เป็นชุมชนที่อยู่ในการดูแลของการเคหะแห่งชาติ มีผลงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สร้างชื่อให้กับชุมชน มีการบริหารจัดการชุมชนของเสียในชุมชน ภายใต้โครงการ “Eco – Village” มีการจัดทำแผนชุมชน และจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้อยู่อาศัยในชุมชน และด้านการบริหารจัดการชุมชน บริหารโครงการด้วยคณะกรรมการชุมชน กำหนดกฎระเบียบการอยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีระเบียบวินัย โดยการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มรักษาสิ่งแวดล้อม
กลุ่มเยาวชน กลุ่มอาชีพ เป็นต้น