ชุมชนคาร์บอนต่ำ…กุญแจสำคัญ “ลดโลกร้อน”

0
1619

มูลนิธิโครงการหลวง และ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมบนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน รวมถึงบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้ชุมชนโครงการหลวงและชุมชนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดำรงชีวิตแบบ “ชุมชนคาร์บอนต่ำ สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน”

โดย ดร.สุมาลี เม่นสิน และคณะ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ทำการค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูล ได้ว่า “วิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติธรรมชาติ…ส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั่วโลก” ไม่ว่าจะเป็นการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก น้ำท่วม ฤดูกาลแปรปรวน ขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้ป่า ภูเขาไฟระเบิด ดินถล่ม และการเกิดพายุ แม้กระทั่งการระบาดของโรคชนิดใหม่

“ใครทำให้เกิด” คำตอบคือ มนุษย์ เป็นผู้สร้างและปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศจนทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น โดยเฉพาะ

  1. ควันพิษจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง เผาป่า และเผากองขยะ
  2. การทำเกษตรที่ผิดวิธี เช่น ปศุสัตว์และนาข้าว การใช้ที่ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงการรั่วไหลระหว่างขนส่งก๊าซและน้ำมันเชื้อเพลิง การหมักของกองขยะหรือบ่อบำบัดสิ่งโสโครก
  3. การใช้สารคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (CFCs) ในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ
  4. การใช้ก๊าซฮาลอน (halon) ในระบบถังดับเพลิงและกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม
  5. การใช้ปุ๋ยและฉีดพ่นสารเคมีเกษตรมากเกินความจำเป็น“ใครแก้ไข” คำตอบคือ มนุษย์ ต้องร่วมกันลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการปลูกป่าและต้นไม้ภายในชุมชนเพื่อช่วยเก็บกักก๊าซเรือนกระจกไม่ให้สะสมในบรรยากาศสูงจนสูญเสียสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีสที่หลายประเทศให้คำมั่นสัญญาร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) นอกจากนี้ยังตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ลำดับที่ 13 ซึ่งกำหนดให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

“ชุมชนคาร์บอนต่ำกับภารกิจระดับประเทศ” ประเทศไทยมีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเหลือร้อยละ 20-25 ของการปล่อยในกรณีปกติภายในปี 2573 ตามกรอบแนวทางดำเนินงานสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาชุมชนคาร์บอนต่ำที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชนและขยายผลไปยังทุกสังคมทั่วประเทศ

“คนบนดอยช่วยลดโลกร้อนอย่างไร” มูลนิธิโครงการหลวง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวเขาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมบนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน การบูรณาการระหว่างหน่วยงาน จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและสนับสนุนให้ชุมชนโครงการหลวงและชุมชนโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงดำรงชีวิตแบบ “ชุมชนคาร์บอนต่ำ สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงได้อย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย

  1. การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ตามกระบวนการของมาตรฐานอาหารปลอดภัย
  2. การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ เช่น ปลูกป่าชาวบ้าน ป่าต้นน้ำลำธาร การวางแผนบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณพืชบนพื้นที่สูง
  3. การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน เช่น ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมภายในชุมชนให้สวยงาม และน่าอยู่อาศัย เช่น ความสะอาด ของเสีย (ขยะมูลฝอย น้ำทิ้ง ควันไฟ) และการประหยัดพลังงาน
  4. ความเข้มแข็งของชุมชนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง เช่น วางแผนและดำเนินการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมทุกด้านตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 “ตัวอย่างชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำ” ผลสำเร็จจากความร่วมมือของชุมชนและหน่วยงานสนับสนุนกว่า 3 ปี ศูนย์วิจัยตรวจประเมินและให้การรับรองมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้การรับรองชุมชนโครงการหลวง 12 แห่ง เป็นชุมชนบนพื้นที่สูงคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 แบ่งเป็น ระดับดีเยี่ยม 11 แห่ง และระดับดีมาก 1 แห่ง ได้แก่ (1) บ้านปางบง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง (2) บ้านป๊อก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก (3) บ้านเหล่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ (4) บ้านห้วยน้ำกืน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง (5) บ้านห้วยห้อม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย (6) บ้านดง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย (7) บ้านแม่ขนิลเหนือ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง (8) บ้านป่าเกี๊ยะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ (9) บ้านห้วยข้าวลีบ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก (10) บ้านขอบด้ง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง (11) บ้านหนองหล่ม สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และ (12) บ้านหนองหอยเก่า ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย

“ปัจจัยแห่งความสำเร็จ” ประกอบด้วย

การพัฒนาคน 1.สร้างความเข้าใจให้สมาชิกในชุมชนเห็นความสำคัญ และพร้อมที่จะทำร่วมกัน 2.ให้สมาชิกมีส่วนร่วม “คิดวางแผน ดำเนินการ ตรวจสอบ และปรับปรุงงาน” และ 3.ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็งและเสียสละ

การพัฒนางาน 1.กำหนดกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่และลักษณะพื้นที่ 2.เริ่มทำสิ่งที่จำเป็นตามความต้องการของชุมชนก่อนด้วยวิธีการที่ประหยัดและไม่ยุ่งยากซับซ้อน และ 3.มีแผนการพัฒนางานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง

การบริหารจัดการงบประมาณ 1.จัดหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาหมู่บ้านจากสมาชิกภายในชุมชนและหน่วยงานสนับสนุน และ 2.จัดระบบการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน

โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/54