“ชาวจันทบุรี” หนุนพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด แก้ภัยแล้ง-น้ำท่วม-ฟื้นฟูผืนป่ายกระดับการเกษตร

0
1246

       ชาวจันทบุรี เปิดเวทีเสวนา “ตำนานรักษ์ลุ่มน้ำวังโตนด” ผ่านระบบออนไลน์ หนุนแผนพัฒนาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด  ตอบทุกโจทย์ปัญหาทั้ง เพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้ง-ป้องกันน้ำท่วม สร้างการยกระดับรายได้เกษตรกร พร้อมฟื้นฟูผืนป่าและสัตว์ป่าเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี

      เมื่อเร็วๆนี้ ภาคประชาชน จ.จันทบุรี จัดประชุมเสวนา “ตำนานรักษ์ลุ่มน้ำวังโตนด” ผ่านระบบออนไลน์และเฟซบุ๊กเพจลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี โดยมี ผศ.เจริญ ปิยารมณ์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด, นายณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ ประธานท่อน้ำดิบสายที่ 2, นายอดิศักดิ์ แจ่มโภคา ประธานท่อน้ำดิบสายที่ 3, นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตร จ.จันทบุรี และนายไวกูณฐ์ เทียนทอง เลขานุการคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น รวมถึงข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นความสำคัญในการพัฒนาก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งให้กับประชาชน จ.จันทบุรี 

     ผศ.เจริญ ปิยารมณ์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำวังโตนด กล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ภาคการเกษตรมีน้ำใช้ไม่เพียงพอส่งผลให้ผลผลิตได้รับความเสียหายทุกปี โดยเฉพาะทุเรียน และสวนยางพารา นอกจากนี้ ทำให้ช้างขาดแหล่งน้ำจึงขยายอาณาเขตหากินมายังนอกพื้นที่ ดังนั้นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด จะสามารถตอบโจทย์ในทุกมิติ ทั้งการเพิ่มความมั่นคงให้กับประชาชน ให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้ในช่วงฤดูแล้ง แก้น้ำท่วมในฤดูฝนที่มีน้ำไหลหลาก ซึ่งจะยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรจากผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้น ช่วยฟื้นฟูผืนป่าและสัตว์ป่า

“การดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดจะเข้ามาสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ทั้งการเพิ่มแหล่งน้ำสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในฤดูแล้ง ลดผลกระทบน้ำท่วม ขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้จะกลายเป็นรั้วป้องกันช้าง ออกนอกเขตผืนป่าแก้ไขปัญหาโขลงช้างขยายพื้นที่หากินเพราะขาดแหล่งน้ำในช่วงฤดูแล้ง พร้อม ๆ ไปกับการฟื้นฟูผืนป่าและสัตว์ป่าอื่น ๆ” ผศ.เจริญ กล่าว

      นายธัญสิทธิ์ ชาติวิริยะพงษ์ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตร จ.จันทบุรี ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้พื้นที่การเกษตรในอ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว ปลูกผลไม้เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง และลำไย หากขาดแคลนน้ำจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและโอกาสการสร้างรายได้ให้กับประชาชน จึงจำเป็นต้องใช้น้ำเป็นหลัก 

    อย่างไรก็ตาม ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มองว่าการสร้างอ่างเก็บน้ำดังกล่าวไม่เพียงจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำวังโตนดให้มีความสมบูรณ์มั่นคงเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างโครงข่ายน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่ด้านบนของจังหวัดที่ยังขาดน้ำ คือ อ.สอยดาว รวมทั้งต้นน้ำอื่น ๆ ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อีกด้วย

    ทั้งนี้ เมื่ออ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำได้ 99.50 ล้าน ลบ.ม. มีศักยภาพส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 87,700 ไร่ แบ่งเป็นการส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานศักยภาพลุ่มน้ำตอนบน (ท้ายอ่างฯคลองวังโตนด) ได้ 39,700 ไร่ และส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานศักยภาพลุ่มน้ำตอนกลางได้ 48,000 ไร่ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนดครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.ท่าใหม่ อ.นายายอาม และ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี