บนเวทีเสวนาการคุ้มครองผู้บริโภคชาวกรุงเทพฯ ได้มีการเผยการศึกษาปัญหา 3 เรื่องที่กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมรับฟังปัญหาและข้อเสนอ โดยประเด็นแรกคือ ระบบขนส่งโดยเฉพาะ รถเมล์ ที่บางพื้นที่มีรถน้อย ผู้บริโภคต้องรอนาน บางพื้นที่ก็ไม่มีรถเมล์เลย ประเด็นที่สองคือ ตู้น้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ที่ขาดการกำกับดูแลจากกทม. ด้านมาตรฐานและความสะอาด และประเด็นที่สามคือ เรื่องผังเมือง ที่ไร้ระบบเกิดปัญหาความขัดแย้ง โดย ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะแก้ปัญหารถเมล์โดยการหารถวิ่งเสริมในบางจุด การกำกับตู้น้ำดื่มและเล็งหาจุดน้ำดื่มสะอาดฟรีให้ประชาชน แต่ปัญหาผังเมือง ผู้ว่าฯ ยอมรับว่า “ละเอียดอ่อน” และ “แก้ยาก”
วันที่ 19 กันยายน สภาองค์กรของผู้บริโภค และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะหน่วยประจำจังหวัดกรุงเทพมหานครของสภาองค์กรของผู้บริโภค จัด “เวทีเสวนาการคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร” จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภคในประเด็น ขนส่ง ตู้น้ำดื่ม และผังเมือง ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร
ในช่วงแรกของ “เวทีเสวนาการคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร” กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร นำเสนอข้อเสนอแนะจากกรณีศึกษาอนาคตรถเมล์มหานคร และ บริการรถเมล์โดยสารสาธารณะเป็นการนำเสนอผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่พบว่า ปัญหาหลัก ๆ คือ 1. ปัญหาการเข้าถึงบริการรถประจำทางของประชาชน ที่ไม่มีสะดวก ปัญหาจำนวนรถเมล์มีน้อย ทำให้ประชาชนต้องรอนาน และในบางพื้นที่ไม่มีรถเมล์วิ่งผ่าน เช่น ถนนฉลองกรุง 2. ปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง เพราะประชาชนต้องใช้บริการหลายต่อหลายระบบ และ 3.คุณภาพและความปลอดภัยของบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะรถที่ใช้มีสภาพทรุดโทรม มีอายุการใช้งานนานเกินสมควร ในขณะที่ประชาชนพบว่า แม้แต่ป้ายรถเมล์ก็ใช้งานไม่ได้จริง และคนขับรถประจำทางขาดวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ
การศึกษานี้แสดงถึงต้นตอของปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ คือ 1. มีปัญหาโครงสร้างการบริหารจัดการ ที่ขาดความชัดเจนทั้งแนวคิดและเป้าหมายในการจัดบริการว่า ขนส่งคืออะไร เป็นบริการสาธารณะหรือไม่ และขาดความเชื่อมโยงในแนวคิดและเป้าหมาย 2. ในขณะที่รถเมล์จะถูกวางให้เป็นระบบขนส่งสายหลัก แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีการขยายระบบขนส่งมวลชนหลายระบบอย่างกว้างขวาง แต่ขาดความเชื่อมโยงกัน 3. การเวนคืนที่ดินตามกฎหมายมีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถนำที่ดินที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และ 4. ในขณะที่พื้นที่ถนนมีจำกัด เมื่อไม่มีการบริหารจัดการและจัดระบบที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถลดปัญหาการจราจรติดขัดได้ สำหรับข้อเสนอระบบบริการขนส่งสาธารณะ ที่ปลอดภัยและเป็นธรรมนั้น ซึ่งกชนุช ได้นำเสนอระบบบริการขนส่งสาธารณะ ดังนี้
ข้อเสนอระบบบริการขนส่งสาธารณะ ทางบก
1. เพิ่มรถเมล์สายหลัก สายรอง ในราคาถูก ราคาเดียว ใช้ตั๋วใบเดียวกับทุกระบบ 2. ขอให้ทบทวน BRT (เครื่องจำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติ) เพื่อพิจารณาการดำเนินโครงการ 3. ตัดถนนย่อยตามผังเมือง เพิ่มความคล่องตัวของรถ และโอกาสในการมีรถเมล์สายรอง 4. สร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (Hub) เพื่อการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สะดวกสบาย และประหยัดเวลา 5. ป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย 6. ทางเดินเท้าสะดวก สบาย ปลอดภัย 7. ลดปริมาณรถยนต์ ลดรถติด ด้วยจอดแล้วจร และ 8. กำหนดโซนการใช้ถนน และมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณรถบนถนน
ข้อเสนอ ระบบบริการขนส่งสาธารณะ ทางเรือ
1. ท่าเรือที่ประชาชนเข้าสะดวก ออกสบาย เชื่อมต่อปลอดภัย 2. พิจารณาเดินเรือ เพิ่มตัวเลือก เชื่อมต่อการเดินทาง
ข้อเสนอ ระบบบริการขนส่งสาธารณะ ทางราง
1. ลดค่าธรรมเนียมแรกเข้า ตั๋วใบเดียวใช้ได้กับระบบขนส่งมวลชนทุกระบบ 2. ข้อสรุปประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด 3. ควรจัดเก็บภาษีลาภลอย จากผู้ที่ได้รับประโยชน์อันเกิดจากการพัฒนาที่ดินของรัฐ เพื่อมาอุดหนุนการลงทุนของรัฐ 4. รัฐหารายได้เพิ่ม เช่น จากการโฆษณา Co-Promotion กับสินค้า บัตรรายเดือนมีโฆษณา รวมถึงส่วนแบ่งกับรถไฟฟ้าจากบัตรร่วม 5. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้สร้างลิฟท์ทั้ง 2 ฝั่งถนน ให้ครบทุกสถานี
หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ยังระบุถึงข้อเสนอเร่งด่วนต่อปัญหาเฉพาะของ ขสมก. ทั้งการขอพักชำระหนี้ 1.3 แสนล้านบาทไว้ก่อน ขณะเดียวกันแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ก็ต้องมีความชัดเจน และสามารถทำได้จริง ด้วยการหาโครงการความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) จากองค์กรภาคธุรกิจมาช่วยปรับปรุงรถเมล์ขนส่งสาธารณะ
ทั้งนี้ ขสมก. สามารถหารายได้เพิ่มจากช่องทางและวิธีการต่าง ๆ เช่น รับฝากส่งพัสดุ ที่ท่ารถใหญ่ ๆ ในวัน เวลาธรรมดา ที่ไม่ใช่เวลาเร่งด่วน รวมไปถึงการพัฒนาที่ดินที่เป็นของ ขสมก. และให้ขสมก.หารายได้โดยการร่วมมือกับภาคเอกชน ทำระบบ Job Ticket ตั๋วโดยสาร ให้บริษัทเอกชนซื้อเพื่อเป็นสวัสดิการให้พนักงาน เป็นต้น
87.2 % พบไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรองปัญหาที่สองคือคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร โชว์ผลการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญล่าสุด เมื่อวันที่ 15 – 31 สิงหาคม 2565 จำนวน 1,530 ตู้ในพื้นที่ 33 เขตของกรุงเทพฯ พบข้อมูลสำคัญ ที่บ่งบอกถึงคุณภาพน้ำ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่สำรวจว่าร้อยละ 90 ไม่ติดใบอนุุญาตประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ร้อยละ 91 ไม่มีการแสดงรายงานการตรวจคุณภาพน้ำ และร้อยละ 87.2 ไม่มีการติดฉลาดระบุการตรวจไส้กรอง
กชนุช ชี้ด้วยว่า วันนี้กรุงเทพฯ ยังไม่เคยมีเทศบัญญัติ หรือข้อบัญญัติเป็นการเฉพาะในการควบคุมตู้น้ำดื่มเพื่อให้เรามีน้ำดื่มที่มีคุณภาพ ซึ่งผลสำรวจยังพบอีกว่า เจ้าของสถานที่ที่ติดตั้งตู้น้ำดื่มไม่ทราบด้วยซ้ำว่าต้องมีการขออนุญาตติดตั้ง บางส่วนเป็นเพียงผู้ให้เช่าพื้นที่ หรือซื้อตู้ต่อมาและไม่มีใบอนุญาต อีกทั้งพบว่าตู้น้ำดื่มไม่ได้มีการทำความสะอาด เนื่องจากเข้าใจว่า บริษัทที่มาติดตั้งจะมาทำความสะอาดเอง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคยมาตรวจสอบเลย ดังนั้น ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหา
1. ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน และดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำผิด ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และฉบับแก้ไข เพื่อเป็นการจัดการปัญหาตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ไม่ได้มาตรฐาน
2. การออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การทำธุรกิจ การติดตั้งตู้น้ำดื่ม และให้มีบทกำหนดโทษ เพื่อให้น้ำที่ผลิตมีความสะอาดและปลอดภัย
3. ขอให้หน่วยงานรัฐร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ ขยายผลการตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ เช่น การสนับสนุนผ่านกองทุนสุขภาพของแต่ละพื้นที่
ผังเมือง – ก่อสร้างโครงการใหญ่ ๆ กระทบคนเมืองด้านนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวถึงปัญหาที่สาม ผลกระทบจากผังเมืองรวมกรุงเทพฯ กรณีการละเมิด พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และฉบับแก้ไข ปัญหาการก่อสร้างอาคารผิดกฎหมาย ผลจากการพัฒนาเมือง ตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคยังประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย การคมนาคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม จากการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้บริโภคโดยรวมสาเหตุการละเมิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และฉบับแก้ไข คือ การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ขั้นตอนการอนุญาต และการตรวจสอบปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมาย จนมีผลให้เกิดการฟ้องคดีเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง และควรมีการยกเลิก อีไอเอ ที่ส่งเกิดผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด กรณีอาคารโรงแรมดิเอทัส ซ.ร่วมฤดี โครงการแอซตัน อโศก และโครงการคอนโดรีเจ้นท์ โฮม บางซ่อน (กำแพงบางซ่อน) เป็นต้น
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ตั้งคำถามว่า โครงการใหญ่ ๆ หลายแห่งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนที่ควรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฏหมายขณะที่ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ยังไม่ได้มีการประกาศใช้ อีกทั้งมีข้อคัดค้านจากภาคประชาชนหลายประการ สมควรที่มีการจัดทำให้เหมาะสมมากขึ้น โดยมีข้อเสนอ
1. ให้คณะผู้ร่างผังเมืองรวมมีการศึกษาผลกระทบบทเรียนผังเมืองเดิม เพื่อศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น และนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองใหม่ และจัดทำให้เป็นข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงได้
2. ขอให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่าเคร่งครัด
3. ให้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค ก่อนการขยายเมือง
4. ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
5.ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) มีการให้โบนัสเอื้อประโยชน์ต่อโครงสร้างอาคารให้มีพื้นที่มากขึ้น โบนัสแรงจูงใจที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ส่วนอื่น มาเพิ่มพื้นที่ของอาคารให้มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย
6. ขอให้พิจารณากระจายเมืองไปยังเขตปริมณฑล
และ 7. ขอให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการทบทวนวิธีการพิจารณา อนุมัติการรายงานสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ดูเฉพาะรายงานที่ส่งมอบมา แต่ต้องดูมิติที่เกิดขึ้นจริงด้วย
“การศึกษาผลกระทบผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และการสร้างอาคารต่าง ๆ มีการศึกษามาเป็นระยะเวลาพอสมควร ภาคประชาชนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง เพราะการที่เรามีตึกใหญ่ๆ สร้างผลกระทบมากมายต่อชุมชนที่อยู่เดิม” ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร กล่าวและว่า มิติใหม่ของการคุ้มครองผู้บริโภค หน่วยงานรัฐ กับภาคประชาชน ที่ผ่านมาเหมือนทำงานอยู่คนละข้างกัน จึงอยากเห็นความร่วมไม้ร่วมมือกันทำงาน โดยภาคประชาชนยินดีทำงานสนับสนุนให้ข้อมูล ให้ข้อเสนอแนะแก่ทางภาครัฐ โดยเฉพาะกทม.
สุดท้าย ตัวแทนเครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง ลุกขึ้นสะท้อนปัญหาจากการก่อสร้างอาคารที่ผิดกฎหมาย หลายชุมชนฟ้องร้องจนชนะคดีมาแล้ว แสดงว่า สิ่งที่รัฐอนุมัติไปมีปัญหาในตัวมันเอง โดยเฉพาะกฎหมายผังเมือง และกฎหมายอาคาร
ผู้ว่าฯ กทม.รับข้อเสนอปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่องจากนั้นตัวแทนแต่ละประเด็นรถเมล์ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และผังเมือง ยื่นข้อเสนอ ต่อชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร
ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวปิดท้ายว่า การมีสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำให้ภาครัฐได้มีโอกาสรับฟังความเห็นประชาชน ทางกทม. ยินดีรับฟังทุก ๆ ความเห็น ประเด็นรถโดยสารสาธารณะ หรือรถเมล์ อยู่ในความรับผิดชอบของขสมก. สิ่งที่กทม.อาจทำได้ คือ การหารถเสริมไปในบางจุด ส่วนเรื่อง ตั๋วใบเดียว แม้จะอำนวยสะดวกประชาชน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลง ฉะนั้นเรื่องรถเมล์ มองว่า มีหลายมิติหากเข้ามาจัดการเรื่องนี้
ชัชชาติ กล่าวถึงคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ กทม.จะพยายามจัดบริการจุดน้ำดื่มฟรีให้ ซึ่งในอดีตเคยมีแล้วแต่ถูกยกเลิกไป ขณะที่เรื่องผังเมืองรวมยอมรับยากและละเอียดอ่อน ปัญหาวันนี้ผังเมืองไปก่อนถนน “ผังเมืองเปลี่ยนสี ถนนเปลี่ยนยาก เปลี่ยนสีเปลี่ยนง่าย หลายครั้งถนนไปก่อน สีไม่ไปตาม”