ชป.เผยความคืบหน้ากำจัดผักตบชวาลุ่มน้ำภาคกลาง คาดเสร็จทันก่อนน้ำหลากปี 64

0
1475

อธิบดีกกรมชลประทาน เผยความคืบหน้าการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 87 ของแผนฯ หวังลดปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในทางน้ำชลประทาน คาดแล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปี 2564 นี้ ตามนโยบายของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และดร.เฉลิมชัย         ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง พื้นที่ดำเนินการประมาณ 4,107 ไร่ ในเขตของสำนักงานชลประทานที่ 3, 4 และ 9-13 ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง 27 จังหวัด ปัจจุบันสามารถกำจัดผักตบชวาและวัชพืชด้วยการใช้เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ไปแล้วกว่า 554,400 ตัน หรือร้อยละ 87 ของแผนฯ ส่วนที่ใช้แรงงานคนในการกำจัด มีผลงานคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 54 หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1,110 ไร่ คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดก่อนเข้าสู่ฤดูฝนหน้า 

สำหรับแนวทางการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชขวางทางน้ำ นั้น กรมชลประทาน ได้ติดตั้ง Log boom เพื่อหยุดผักตบชวาและวัชพืชไม่ให้ไหลไปตามแม่น้ำลำคลอง ทำให้ง่ายต่อการจัดเก็บและป้องกันปัญหาผักตบชวาและวัชพืชไหลไปตามแม่น้ำหรือคลองลงไปสู่พื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรมชลประทาน มีแผนดำเนินการจัดทำทุ่นยางพารา ดักผักตบชวา จำนวน 10,404 ท่อน พร้อมติดตั้ง 612 หน่วย ซึ่งการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จะใช้ทั้งแรงงานคนและเครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆ อาทิ รถขุดตีนตะขาบ แบบแขนยาว จำนวน 107 คัน เรือขุดแบบปูตัก จำนวน 31 ลำ และเรือกำจัดวัชพืช จำนวน 52 ลำ

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการจัดเก็บแล้วเสร็จ จะจัดรอบเวรเพื่อทำการจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง ด้วยเรือน​วัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็ก ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 นี้ กรมชลประทานมีแผนจัดสร้างเรือน​      วัตกรรมกำจัดวัชพืชขนาดเล็กเพิ่มเติมอีก 100 ลำ สำหรับการใช้งานเพื่อกำจัดวัชพืชและผักตบชวาให้เกิดความต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาวัชพืชและผักตบชวาที่สร้างผลเสียให้กับพื้นที่ทางน้ำชลประทานได้

นอกจากนี้  ยังได้ให้ทุกโครงการชลประทาน จัดทำและติดตั้งป้ายแสดงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับผิดชอบ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ไว้ที่อาคารชลประทาน และทางน้ำชลประทาน ที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมของผักตบชวา เพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นได้ สามารถแจ้งให้หน่วยงานชลประทานในพื้นที่เข้าไปทำการจัดเก็บได้อย่างทันท่วงที หรือสามารถแจ้งผ่านช่องทางสื่อสารสังคมออนไลน์ Page Facebook “เรารักชลประทาน” และสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา