จาก ‘ดุสิตธานี’ สู่ ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ ปรากฎการณ์พลิกฟื้นความยิ่งใหญ่ CBD สีลม

0
1948

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ โครงการมิกซ์ยูสภายใต้แนวคิด Here for Bangkok โครงการที่เปลี่ยนโฉมเพื่อพลิกฟื้นความยิ่งใหญ่ของย่านธุรกิจสีลมหรือ CBD ให้กลับมาเป็นแลนด์มาร์คของกรุงเทพฯ อีกครั้ง หลังจากสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกพร้อมคงความเป็นตำนานด้านการบริการแบบไทยมากว่า 50 ปี ต้นปี 2563 โรงแรมดุสิตธานีเริ่มการรื้อถอนทั้งตัวอาคารและโครงสร้างเดิมเพื่อก่อสร้างขึ้นมาใหม่เป็น โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567 ในมุมของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นี่คือการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองตามแนวคิด Urban re-development และยังเป็นการเปลี่ยนโฉมธุรกิจโรงแรมดุสิตธานีที่ยืนยงมานานกว่าครึ่งศตวรรษสู่ยุคใหม่ของการพัฒนาที่ดินและสิ่งก่อสร้างเพื่อให้ทัดเทียมตามโลกที่เปลี่ยนแปลงรวมถึงการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันด้วยมูลค่าโครงการกว่า 3.67 หมื่นล้านบาท บนที่ดิน 23 ไร่บริเวณหัวมุมถนนสีลม ตรงข้ามสวนลุมพินี พร้อมกับรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมที่ประกอบด้วยกลุ่มอาคารสูงขนาดใหญ่มีพื้นที่ก่อสร้างรวมมากกว่า 400,000 ตารางเมตร บวกกับความพิเศษในการสรรค์สร้างสวนลอยฟ้าขนาดใหญ่ (รูฟพาร์ค) ขนาด 7 ไร่ให้เป็นสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้พื้นที่ส่วนนี้ได้


นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ศักยภาพของทำเลที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบันนั้น ถือว่าได้พัฒนาไปมากจนเรียกได้ว่าเป็นสุดยอดทำเลที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ ถ้ากล่าวถึงด้านราคาที่ดินย่านสีลมที่ได้รับการประเมินล่าสุด ปี 2563 จากกรมธนารักษ์ระบุราคาสูงสุดคือ 1,000,000 บาทต่อตารางวา ถ้าใช้ตัวเลขนี้คิดเฉพาะราคาที่ดินที่กำลังพัฒนาโครงการอยู่ตอนนี้ 23 ไร่มูลค่าที่ดินจะสูงกว่า 9,000 ล้านบาท และเพื่อที่จะคงมาตรฐานในด้านการบริการของโรงแรมห้าดาวที่พัฒนาขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุยที่อยากจะพัฒนาแบรนด์ไทยไปสู่เวทีระดับโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการให้ทัดเทียมกับปัจจุบัน เราจึงสร้างสรรค์โครงการมิกซ์ยูสเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ห้องพัก ร้านอาหาร สถานที่จับจ่ายสินค้า และอาคารสำนักงาน” ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ที่ดินให้สอดรับกับสภาพของทำเลที่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างด้านการคมนาคมไปแล้วอย่างเต็มที่ ทำเลนี้เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ซึ่งแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวอย่างคล่องตัวของภาคธุรกิจทั้งการเงินและการค้า จุดนี้เองที่ทำให้ดุสิตธานีต้องเลือกใช้แนวคิด urban re-development คือการรื้อถอนโรงแรมดุสิตธานี แล้วสร้างกลุ่มอาคารขึ้นมาใหม่ให้ตอบรับวัตถุประสงค์ในการสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักของนานาชาติ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดทั้งในเชิงธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานี ในรูปแบบของโครงการมิกซ์ยูส ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวและการขับเคลื่อนธุรกิจในภาพรวมของความเป็น CBD สีลม และประโยชน์ต่อภาคสังคม ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สีเขียวมากถึง 7 ไร่ แต่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันงดงามที่ดุสิตได้สร้างไว้มากว่าครึ่งศตวรรษ


“ปัจจุบันสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของธุรกิจโรงแรมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โรงแรมดุสิตธานีเดิมนั้นได้เดินทางมาถึงจุดที่ไม่สามารถรองรับการเติบโตของทำเลตรงนี้ได้อีกต่อไป การเปลี่ยนแปลงของดุสิตธานีในวันนี้ เราต้องมองไปไกลในอนาคตข้างหน้าว่ามันจะไม่เพียงแต่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ในกลุ่มธุรกิจของดุสิตธานีเองเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่ในการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น เอื้ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของคนเมืองมากขึ้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน สอดรับกันมากขึ้นด้วย” นางศุภจีกำลังชี้ให้เห็นว่า การปรากฏโฉมของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คในเร็ววันนี้ จะทำให้เกิดสิ่งก่อสร้างที่เป็นไอคอนิคแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครที่จะสร้างการจดจำในระดับสากล เช่นเดียวกับโครงการ มารีน่า เบย์แซนด์ ของสิงคโปร์ และฮัดสันยาร์ด นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา


นอกจากนี้โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์คยังทำหน้าที่เสมือนหนึ่ง ‘ตัวเร่ง’ กระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนถนนสีลมในเชิงของธุรกิจและสังคม เพราะเมื่อมีผู้นำลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ เจ้าของที่ดินและธุรกิจอื่นๆ บนถนนสายนี้ย่อมมีความคิดขยับตัวตามให้ทันเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น


ทั้งนี้ การตีโจทย์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของดุสิตธานี ยังมีความพิเศษของทำเลหัวถนนสีลมซึ่งเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าทำเลอื่นที่เป็นจุดตัดถนนสายหลักและเป็นชุมทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ที นั่นคือพื้นที่สีเขียวของสวนลุมพินี ที่ถือเป็นปอดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ และเป็นมุมมองทิวทัศน์ที่ทำให้คนเมืองรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น โฉมหน้าของดุสิต เซ็นทรัล พาร์คจึงต้องอาศัยมืออาชีพระดับโลกมาร่วมกันออกแบบให้ตอบรับสภาพแวดล้อมโดดเด่นในส่วนนี้อย่างจริงจัง หนึ่งในบริษัทสถาปนิกที่ร่วมพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค คือ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) นายสมเกียรติ โล่ห์จินดาพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ให้ข้อมูลเบื้องหลังแนวคิดการออกแบบกลุ่มอาคารมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ก่อสร้างรวมกันมากกว่า 400,000 ตารางเมตรว่า

“หลักคิดสำคัญของการออกแบบจะถือเอาการใช้งานเป็นหลัก เมื่อวางแผนงานหรือเลย์เอ้าท์ได้แล้วก็มาปรับตำแหน่งของแต่ละอาคารไม่ให้บังกันเพราะกลุ่มอาคารทั้งหมดจะต้องมองเห็นวิวสวนลุมพินีได้ทุกอาคาร ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความท้าทายในการออกแบบ โดยเฉพาะในส่วนของอาคารที่พักอาศัย หรือดุสิต เรสซิเดนเซส เนื่องจากอาคารนี้เปรียบเสมือนบ้านที่ทุกท่านได้ใช้ชีวิตอาศัยอยู่ จึงต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยเพิ่มเติมทั้งเรื่องของความเป็นส่วนตัว ความสะดวกสบายและความปลอดภัย”
พื้นที่ทั้งหมดของดุสิต เซ็นทรัล พาร์คได้รับการจัดสรรออกเป็นส่วนจอดรถชั้นใต้ดิน และกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ 4 ประเภท 4 ธุรกิจ ประกอบด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ในภาพลักษณ์ระดับโรงแรมห้าดาว หรูหราและมีความโดดเด่นของตัวอาคารแม้จะอยู่ท่ามกลางกลุ่มอาคารอื่นๆ ด้วยความสูง 39 ชั้น ถอดแบบเอกลักษณ์พิเศษทุกรายละเอียดอันถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปะของไทยมาจากดุสิตธานีเดิมที่สะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ โดยหลักๆ ยังคงรูปแบบที่งดงามแบบเดิมไว้ เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม สร้างเป็นยอดแหลมเหนืออาคารไว้เช่นเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องการความทันสมัยมีมาตรฐานสากล และด้วยทำเลซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสวนลุมพินี จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของงานออกแบบที่ต้องจัดเลย์เอ้าท์ให้ห้องพักของโรงแรมจำนวน 259 ห้องมีความเป็นส่วนตัวสูงสุดด้วยขนาดห้องที่ใหญ่ขึ้นและมองเห็นวิวสวนลุมพินี 100% โรงแรมดุสิตธานีโฉมใหม่จึงปักหมุดพื้นที่ด้านหน้าโครงการตั้งตระหง่านตรงข้ามสวนลุมพินีพอดี ดุสิต เรสซิเดนเซส ส่วนที่พักอาศัยตั้งอยู่ในตำแหน่งของโรงแรมดุสิตธานีเดิม โดยเป็นอาคารที่พักแบบเช่าสิทธิ์ระยะยาวหรือลีสโฮลด์ สูง 69 ชั้น จำนวน 389 ยูนิต โดยแบ่งเป็นส่วนพักอาศัยเป็น 2 แบรนด์ คือ ดุสิต เรสซิเดนเซส ขนาดเริ่มต้น 120 ตารางเมตร จำนวน 159 ยูนิต เจาะกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบที่อยู่อาศัยสไตล์คลาสสิก หรูหราเหนือกาลเวลา และดุสิต พาร์คไซด์ ขนาดเริ่มต้น 65 ตารางเมตร จำนวน 230 ยูนิต ตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์คนเมือง ด้วยดีไซน์ที่ร่วมสมัย
อาคารสำนักงาน (เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส) ความสูง 45 ชั้น ทำเลถนนสีลม ณ จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีตอบโจทย์ธุรกิจได้ตรงที่สุด เลย์เอ้าท์อาคารทั้งหมดออกแบบในสไตล์โมเดิร์น และจุดเด่นสำคัญอีกอย่าง คือการมองเห็นวิวสวนลุมพินีเช่นเดียวกับอาคารสูงอื่นๆ ในโครงการ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของทำเลที่หลายธุรกิจให้การตอบรับ ศูนย์การค้า (เซ็นทรัล พาร์ค) ความสูง 7 ชั้น ที่ออกแบบให้เชื่อมต่อกับทุกอาคารในโครงการอีกด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ความเป็นดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค จะไม่อาจเป็นเซ็นทรัล พาร์คได้สมชื่อหากขาดจุดเด่นสำคัญของการออกแบบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของโครงการ ดีไซน์ในส่วนนี้เรียกว่ารูฟพาร์ค (Roof Park) เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่ถูกโอบล้อมด้วยกลุ่มอาคารทั้งสี่ สวนธรรมชาติที่จะถูกสร้างขึ้นนี้มีขอบเขตพื้นที่รวม 7 ใร่ เริ่มตั้งแต่ระดับอาคารชั้น 4 ของอาคารศูนย์การค้า ไต่ระดับขึ้นไปสู่ชั้น 5 ชั้น 6 และชั้น 7 ให้มุมมองเสมือนหนึ่งเนินเขาใจกลางเมือง รูฟพาร์คเกิดจากแนวคิดที่ต้องการเชื่อมต่อมุมมองสวนลุมพินีไล่ขึ้นไปแบบขั้นบันได เมื่อมองมาจากกลุ่มอาคาร จะเสมือนว่ากำลังอยู่บนเนินเขา ขอบเขตธรรมชาติจะมองเห็นการเชื่อมต่อจากรูฟพาร์คสู่สวนลุมพินีโดยไม่มีสิ่งใดบดบัง ในขณะที่หากมองมาจากสวนลุมพินีขึ้นมา เราจะเห็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเสมือนเป็นเนินเขาอยู่ท่ามกลางหมู่ตึกสูงใจกลางเมือง “พื้นที่ตรงนี้คือหัวใจของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เราออกแบบรูฟพาร์คให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้อนรับคนทุกเพศทุกวัยให้สามารถเข้ามาใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย วิ่ง ขี่จักรยาน หรือรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ เช่น งานอดิเรก แสดงงานศิลปะ ดนตรี ฯลฯ ตรงนี้จะเป็นการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเกิดรูปแบบไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมือง” นายสมเกียรติ กล่าวปิดท้าย


ติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) ได้ที่เว็บไซต์ www.dusitcentralpark.com และ/หรือwww.facebook.com/dusitcentralparkและอินสตาแกรม​ @dusitcentralpark และลงทะเบียนความสนใจในดุสิต เรสซิเดนเซส และดุสิต พาร์คไซด์ได้ที่ www.dusitresidences.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 02-233-5889