จับตาประเด็นวัคซีนโควิด-19 โดยเฉพาะของ J&J และผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 19 – 23 เม.ย. 2564

0
1475

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 – 16 เม.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก โดยดัชนีฯ ปรับลดลงช่วงต้นสัปดาห์ หลังสหรัฐฯ ระงับการใช้วัคซีนโควิด-19 ของ Johnson & Johnson (J&J) จากกรณีพบลิ่มเลือดอุดตัน อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงลบ และปิดบวก เนื่องจาก นักลงทุนขานรับผลประกอบการกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ที่ออกมาแข็งแกร่ง รวมทั้ง ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อ ตลาดหุ้นยุโรป ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน เนื่องจาก นักลงทุนเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังสหรัฐฯ และจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับ นักวิเคราะห์คาดว่า ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในยุโรป ในไตรมาส 1/2021 จะขยายตัวแข็งแกร่ง ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับลดลงเล็กน้อย จากความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 5,000 รายต่อวัน ซึ่งอาจทำให้ต้องยกเลิกการจัดโตเกียวโอลิมปิกในปีนี้ ส่วนตลาดหุ้นจีน (A-share) ปรับลดลงเช่นกัน โดยนักลงทุนกังวลประเด็นที่รัฐบาลจีนอาจออกนโยบายคุมเข้มทางการเงิน อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงลบ หลัง GDP จีน ในไตรมาส 1/2021 ขยายตัว 18.3%YoY ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับลดลง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,500 รายต่อวัน อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มพลังงานที่กลับมาปรับเพิ่มขึ้น และการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงยืนยันว่า ไม่มีเคอร์ฟิวและ lockdown ได้ช่วยประคองดัชนีฯ ไว้ สำหรับราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากโอเปกได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบตลาดโลกในปีนี้ และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ประกอบกับ สต็อกน้ำมันดิบปรับลดลงมากกว่าคาด ส่วนราคาทองคำ ปิดบวก ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และจากความกังวลสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย รวมทั้ง การที่เงินดอลลาร์ สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเทียบสกุลเงินหลัก

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่เคลื่อนไหวผันผวน โดยตลาดหุ้นยังคงได้รับอานิสงส์ จากความคาดหวังในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนกระบวนการผ่านกฏหมายเป็นแบบ Reconciliation ได้มากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปีงบประมาณ ส่งผลให้พรรคเดโมแครตสามารถผลักแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีไบเดน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันในขั้นวุฒิสภา รวมทั้ง จากความคืบหน้าการพัฒนา และแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐฯ หลัง Duke Global Health Innovation Center ได้ประเมินว่า ภายในสิ้นเดือน ก.ค.นี้ สหรัฐฯ จะมีวัคซีนโควิด-19 เหลือใช้อย่างน้อย 300 ล้านโดส หรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มออกมาดี โดย Consensus คาดว่า กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ และยุโรป ในไตรมาส 1/2021 จะขยายตัว 24.2% และ 47.4% ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมทั้ง สหรัฐฯ-รัสเซีย ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มระมัดระวังการซื้อขาย เพื่อรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะกล่าวถึงการเร่งเข้าซื้อตราสารหนี้ ตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หรือไม่ รวมทั้ง นักลงทุนยังรอติดตาม การตัดสินใจของสหรัฐฯ ว่าจะกลับมาใช้วัคซีนของ J&J หรือไม่ ภายในวันศุกร์นี้ โดยประเด็นข้างต้นเหล่านี้ จะยังสร้างความผันผวน และอาจกดดันตลาดหุ้นโดยรวมให้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • แนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีไบเดนกำลังผลักดันแผน เพื่อแก้ปัญหาชิปคอมพิวเตอร์ขาดตลาด ผ่านแผนลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งทางทำเนียบขาวเสนอให้ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ในการวิจัยพัฒนา และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ในสหรัฐฯ ด้านทีมงานเฉพาะกิจของทำเนียบขาวที่รับผิดชอบดูแลการระบาดของโควิด-19 ยังได้ประกาศแผนลงทุนมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ เพื่อรับมือภัยคุกคามจากโควิด-19
  • ติดตามผลการประชุม ECB (22 เม.ย.) โดยคาดว่า ที่ประชุมฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% และคงวงเงินในการเข้าซื้อตราสารหนี้ ตามโครงการ PEPP วงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรตามเดิม แต่ให้จับตาถ้อยแถลงของประธาน ECB เกี่ยวกับประเด็นการเร่งเข้าซื้อตราสารหนี้ ตามโครงการ PEPP ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
  • ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยฮ่องกงได้ประกาศระงับเที่ยวบินจากอินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 14 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.นี้ ด้านฝรั่งเศสออกมาระบุว่า จะบังคับใช้มาตรการกักตัว 10 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี และแอฟริกาใต้ ขณะที่ ญี่ปุ่นกล่าวว่า อาจยกเลิกการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในระหว่างวันที่ 23 ก.ค.-8 ส.ค.นี้ หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เลวร้ายลง
  • ประเด็นเรื่องวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยน.พ.เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Pfizer ได้เปิดเผยว่า ประชาชนมีแนวโน้มที่จะต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของ Pfizer-BioNTech โดสที่ 3 ภายในระยะเวลา 12 เดือน หลังจากฉีดวัคซีน 2 โดสแรกแล้ว ขณะที่ น.พ.ฟอซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อสหรัฐฯ คาดว่า สหรัฐฯ จะตัดสินใจว่าจะกลับมาใช้วัคซีนของ J&J หรือไม่ ภายในวันศุกร์นี้
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย โดยโฆษกทำเนียบเครมลิน​      ของรัสเซีย ได้กล่าวว่า รัสเซียจะประกาศขับนักการทูตสหรัฐฯ จำนวน 10 คนออกจากรัสเซียเพื่อตอบโต้การที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย พร้อมกับขับไล่ทูตรัสเซีย 10 คนออกจากสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ อ้างว่า รัสเซียได้แทรกแซงการเลือกตั้ง และแฮกข้อมูลของสหรัฐฯ  
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยจีนได้เตือนสหรัฐฯ และญี่ปุ่นให้หยุดก้าวก่ายกิจการภายในของจีน และหยุดทำลายผลประโยชน์ของจีนในทันที หลังประธานาธิบดีไบเดน และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ตกลงที่จะขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาค ด้านเทคโนโลยี และด้านอื่นๆ โดยได้ให้คำมั่นสัญญาเพื่อเป็นพันธมิตรที่จะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากจีน
  • การประชุม Global Leaders’ Climate Summit ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (22-23 เม.ย.) ซึ่งประธานาธิบดีไบเดน ได้เชิญประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เข้าร่วมด้วย โดยการประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อให้กลุ่มประเทศผู้นำโลกร่วมกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ล่าสุด สหรัฐฯ-จีน ออกแถลงร่วม โดยระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศ จะทำงานร่วมกัน และร่วมมือกับอีกหลายฝ่ายเพื่อยกระดับการปฏิบัติตามความตกลงปารีส
  • การทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2021 เช่น Netflix, Abbott, J&J, Biogen, Procter & Gamble, Associated British Food, AT&T, Intel, Credit Suisse, American Airlines, American Express 
  • ตัวเลขเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ    ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ยอดขายบ้านมือสอง และยอดขายบ้านใหม่

ยุโรป    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต

เยอรมนี    ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต

อังกฤษ    ดัชนีราคาผู้บริโภค ยอดค้าปลีก และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต

ญี่ปุ่น    ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต

ไทย    ยอดส่งออก-ยอดนำเข้า และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

วิเคราะห์โดย:

นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP®  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
นายจตุรภัทร ทนาบุตร   ผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด