จับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ และรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 5 – 9 เม.ย. 2564

0
1588

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มี.ค.- 2 เม.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากการประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว ของประธานาธิบดีไบเดน มูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยโครงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ บรอดแบนด์ พลังงานสะอาด และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนี้ ดัชนีฯ ยังได้แรงหนุนจากดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.ที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 37 ปี ตลาดหุ้นยุโรป ปรับเพิ่มขึ้น โดยในช่วงแรกดัชนีฯ เผชิญแรงขายจากหุ้นกลุ่มธนาคาร เนื่องจาก Credit Suisse เปิดเผยว่า ธนาคารอาจเผชิญการขาดทุนมูลค่ามหาศาล หลังจาก Archegos Capital ซึ่งเป็น hedge fund ของสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ในการวางหลักประกันการลงทุนเพิ่ม (Margin call) อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ลดช่วงลบ และปิดบวก ขานรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ของยูโรโซน ในเดือน มี.ค.ที่ขยายตัวในอัตราสูงสูดในรอบเกือบ 27 ปี ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวก ขานรับตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (Tankan) ใน 1Q2021 ที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวกครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ส่วนตลาดหุ้นจีน (A-share) ปรับเพิ่มขึ้น ตามตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมของจีนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่เพิ่มขึ้น 179% เมื่อเทียบรายปี ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของจีนที่ออกมาดี ด้านตลาดหุ้นไทย ปิดบวกเช่นกัน จากแรงซื้อนำในหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ตามที่นักลงทุนทยอยเข้าลงทุน เพื่อรอรับเงินปันผล ก่อนการขึ้นเครื่องหมาย XD รวมทั้ง นักลงทุนยังคาดการณ์ผลประกอบการของกลุ่มฯ มีแนวโน้มกลับมาเติบโตได้ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีแรงซื้อหุ้นขนาดกลางถึงเล็ก นำโดยกลุ่มรับเหมา เนื่องจากขานรับการที่ไทย และจีนได้ร่วมเซ็นสัญญางานก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง สำหรับราคาน้ำมันดิบ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากที่ประชุมโอเปกพลัสได้มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเริ่มในเดือนพ.ค.นี้ และจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง 900,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรล ส่วนราคาทองคำ ปิดลบเล็กน้อย ตามเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่ กองทุน SPDR Gold Trust ขายทองคำ 3.79 ตันในสัปดาห์ที่ผ่านมา

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน โดยตลาดหุ้นยังคงได้รับอานิสงส์ จากสัญญาณความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังรอบใหม่ โดยล่าสุด ประธานาธิบดีไบเดนระบุว่า อาจใช้แนวทาง budget reconciliation ในการผ่านร่างแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรอบใหม่ หากพรรครีพับลิกันไม่ให้การสนับสนุนแผนข้างต้น ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าว จะให้วุฒิสภาสหรัฐฯ สามารถรับรองร่างกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียงเกินหนึ่ง รวมทั้ง ตลาดฯ ยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าการพัฒนา และแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 โดยล่าสุด จีนได้ตั้งเป้าฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้ 500 ล้านโดส ภายในเดือน มิ.ย.นี้ นอกจากนี้ แนวโน้มที่ IMF จะปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ดีขึ้น นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังช่วยหนุนให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน มีแนวโน้มถูกปรับประมาณการดีขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ความกังวลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น รวมถึง ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตก-จีนที่ยังมีอยู่ ประกอบกับ นักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มระมัดระวังการซื้อขาย เพื่อรอติดตามการรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ว่าจะมีการหารือถึงเรื่องการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE หรือมีการให้มุมมองต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพิ่มเติม หรือไม่ โดยประเด็นข้างต้นเหล่านี้ จะยังสร้างความผันผวน และอาจกดดันตลาดหุ้นโดยรวมให้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
· แนวโน้มการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีไบเดนได้เผยแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสหรัฐฯ และเงินสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิต รวมจำนวน 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ และยังได้เสนอปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อสมทบทุนใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้ระบุว่า อาจใช้วิธีการผลักดันแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานแบบ fast track ซึ่งจะทำให้สามารถผลักดันโครงการดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันในขั้นวุฒิสภา
· ติดตามการรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค. (7 เม.ย.) โดยคาดว่า รายงานจะบ่งชี้ว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่จะยังสนับสนุนให้ Fed คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำต่อไป เพื่อช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้กลับมาฟื้นตัว นอกจากนี้ อาจมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการหารือเรื่องการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE ซึ่งปัจจุบัน เข้าซื้ออยู่ที่ 120 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ต่อเดือน
· ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้ประกาศขยายมาตรการ lockdown ทั้งประเทศจนถึงต้นเดือนพ.ค. เพื่อควบคุมการระบาดระลอกที่ 3 ในขณะที่ นายกฯ อังกฤษ ได้ประกาศการผ่อนคลายมาตรการ lockdown หลังจากที่มีรายงานว่า ไม่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในลอนดอน เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้
· ประเด็นเรื่องวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยเนเธอร์แลนด์ และแคนาดาได้ระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ AstraZeneca ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี และวัยรุ่นเป็นการชั่วคราว ในขณะที่ ผู้ผลิตวัคซีน AstraZeneca ได้ปรับประสิทธิภาพของวัคซีนจาก 79% เป็น 76% หลังจากความกังวลก่อนหน้านี้ว่า ข้อมูลการทดสอบที่ AstraZeneca แถลงไม่เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้ ทางรัฐบาลฮ่องกงยังพิจารณาแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 ของ Sinovac แทนวัคซีนของ BioNTech-Pfizer เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าไปในจีนได้เร็วมากขึ้น
· ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตก-จีน โดยรัฐบาลจีนได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ รวมทั้ง ยังสนับสนุนการคว่ำบาตรบริษัทต่างชาติที่ได้แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้แรงงานชาวอุยกูร์ ขณะที่ รายงานสิทธิมนุษยชนของสหรัฐฯ ประจำปี 2020 บ่งชี้ว่า จีนคือรัฐเผด็จการ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ และกลุ่มมุสลิมอื่น ๆ กว่า 1 ล้านคนที่เขตปกครองตนเองซินเจียง
· ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ร้อนแรงมากขึ้น ตามที่จีนได้ประกาศว่า ผู้ผลิตชิปในประเทศสามารถนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบได้โดยไม่ต้องเสียภาษีไปจนถึงไป 2030 หลังจากที่สหรัฐฯ ได้ออกมาตรการลงโทษ และให้อุตสาหกรรมในสหรัฐฯ พึ่งพาตนเองมากขึ้น
· ติดตามรายงาน World Economic Outlook ของ IMF (6 เม.ย.) โดยคาดว่า IMF จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ดีขึ้นจากประมาณการเมื่อเดือน ม.ค.ที่คาดว่า จะขยายตัว 5.5% หลังจากในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีความคืบหน้าในการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 และมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังอย่างต่อเนื่อง
· ติดตามรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท. (7 เม.ย.) โดยคาดว่า รายงานดังกล่าวจะมีการให้รายละเอียดของการปรับประมาณการเศรษฐกิจ รวมทั้ง มุมมองเศรษฐกิจล่าสุดของธปท. ทั้งนี้ ในการประชุมกนง.ครั้งล่าสุด ที่ประชุมฯ ได้มีการปรับลด GDP ปีนี้ลงเล็กน้อย โดยได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยว ปีนี้ลง แต่มีมุมมองเชิงบวกต่อการส่งออก และอุปสงค์ในประเทศ การทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เช่น Fast Retailing Yaskawa Electric และ AEON Financial
· ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ยอดส่งออก ยอดนำเข้า และดัชนีราคาผู้ผลิต
ยุโรป อัตราการว่างงาน และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการเยอรมนี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ ยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดส่งออก
จีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
วิเคราะห์โดย: นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัดนายจตุรภัทร ทนาบุตร ผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด