จับตาความคืบหน้าการผ่านมาตรการเยียวยารอบใหม่ของสหรัฐฯ และมุมมองของ ECB ต่อการเพิ่มสูงขึ้นของ Bond yield วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 8 – 12 มี.ค. 2564

0
1476

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1-5 มี.ค.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดบวก โดยได้แรงหนุนจากข่าวที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน ก.พ.ที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.79 แสนตำแหน่ง ซึ่งดีกว่าคาดที่ 2.1 แสนตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากยังได้รับปัจจัยกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.57% ในขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรป ปิดบวก หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยูโรโซน เดือนม.ค.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และมากกว่าที่คาด ประกอบกับมีแรงซื้อในหุ้นกลุ่มวัฏจักร และกลุ่มสันทนาการ ซึ่งมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการเปิดเศรษฐกิจ ส่วนตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับลดลง หลังมีรายงานว่า ทางการจีนกำลังพิจารณาแผนการควบคุมกระแสเงินทุนไหลเข้า และป้องกันความผันผวนของตลาด ในขณะที่ ตลาดหุ้นไทย ปิดบวก หลังมีรายงานว่า รัฐบาลไทยกำลังเร่งจัดเตรียมแผนในการออก Vaccine Passport และแรงซื้อนำหุ้นกลุ่มธนาคาร และกลุ่มน้ำมัน ตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย และราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามลำดับ สำหรับราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นแรงอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน ได้แรงหนุนจากการที่ประชุมกลุ่มโอเปกพลัสขยายเวลาลดกำลังการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือน และการที่ซาอุดิอาระเบียปรับลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 1 เดือน ส่วนราคาทองคำ ปิดลบ โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่เพิ่มขึ้นอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และเงินดอลลาร์ สหรัฐฯที่แข็งค่าขึ้นเทียบเงินสกุลหลัก

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน แม้ได้รับ Sentiment ในเชิงบวก จากความคาดหวังว่าสภาคองเกรสสหรัฐฯจะอนุมัติร่างมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ และประธานาธิบดีไบเดนจะลงนามร่างดังกล่าวเพื่อบังคับใช้เป็นกฏหมาย ในสัปดาห์นี้ ขณะที่ ตลาดเริ่มคลายความกังวลลงบางส่วนต่อการเพิ่มสูงขึ้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หลังนางเยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯเปิดเผยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนกำลังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่กังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการทยอยแจกจ่ายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า ได้มีการสอบวัคซีนโควิด-19 ภายใต้โครงการ COVAX ไปยัง 20 ประเทศทั่วโลก มากกว่า 20 ล้านโดส

อย่างไรก็ตาม ความกังวลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นปรับเพิ่มขึ้นตาม ความเสี่ยงจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth สหรัฐฯ ที่เป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก ยังไม่มีกำไรมาก และมีกระแสเงินสดที่อ่อนแอ สวนทางกับราคา​ของ​  กลุ่มฯที่ปรับเพิ่มขึ้นมามาก และ Valuation ที่ค่อนข้างตึงตัว รวมไปถึง ความกังวลต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาวะฟองสบู่ในตลาดการเงินทั่วโลก รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯจีนที่ยังมีอยู่ ประกอบกับ นักลงทุนบางส่วนมีแนวโน้มระมัดระวังการซื้อขาย เพื่อรอติดตามถ้อยแถลงจากที่ประชุมธนาคารกลางยุโรปว่า จะมีการระบุถึงเครื่องมือเพื่อช่วยชะลอการเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือไม่ โดยประเด็นข้างต้นเหล่านี้ จะยังสร้างความผันผวน และกดดันตลาดหุ้นโดยรวม

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • การออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมของสหรัฐฯ โดยล่าสุด วุฒิสภาสหรัฐฯได้ลงมติอนุมัติกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ที่เสนอโดยประธานาธิบดีไบเดน และ ทางสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯจะพิจารณาในร่างดังกล่าว เพื่อลงมติอีกครั้ง ในวันอังคารนี้ ตามเวลาสหรัฐฯ โดยหากไม่มีการแก้ไขใดๆ จึงจะถูกส่งต่อให้ประธานาธิบดีไบเดนลงนาม ในช่วงกลางสัปดาห์นี้
  • ติดตามการระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยนายกรัฐมนตรีเยอรมนี และบรรดาผู้นำรัฐ ต่างเห็นพ้องกันว่า จะทยอยผ่อนปรนมาตรการ lockdown เป็น 5 ระยะ แต่จะเพิ่มเบรกฉุกเฉิน หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะขยายเวลาภาวะฉุกเฉิน สำหรับพื้นที่โตเกียว คานางาวะ ไซตามะ และชิบะ จนถึงวันที่ 21 มี.. 
  • ประเด็นเรื่องการพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสโควิด-19 โดยสหรัฐฯได้เริ่มแจกจ่ายวัคซีนโดสเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หลังผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทางประธานาธิบดีไบเดน ได้ระบุว่า จะหาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้เพียงพอ สำหรับผู้ใหญ่ทุกคนทั่วสหรัฐฯ ภายในสิ้นเดือน พ..นี้ 
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯจีน โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ระบุว่า จีนถือเป็นบททดสอบด้านภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯจีนอยู่ในรูปแบบของการแข่งขัน นอกจากนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้สั่งยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิด-19 จากจีน ต่อไปอีก 6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น
  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ ยุโรป และรัสเซีย โดยสหรัฐฯ และยุโรปได้ประกาศคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัสเซียที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางยาพิษผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย นอกจากนี้ ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตกลงกับสหภาพยุโรป เพื่อที่จะระงับการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเป็นเวลา 4 เดือน หลังจากที่มีการเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจากข้อพิพาทเรื่องการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน
  • การประชุมสภาประชาชนจีน (NPC) และการประชุมสภาปรึกษาการเมืองจีน (CPPCC) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 4-11 มี.ค.โดยคาดว่า จะมีการกำหนดเป้าหมายเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ โดยล่าสุด ได้มีการกำหนดเป้าหมาย GDP ปีนี้ที่ขยายตัวมากกว่า 6% และเป้าหมายการสร้างงานในเมืองอีกกว่า 11 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ ให้ติดตามการออกมาตรการต่างๆที่สอดรับกับแผนเศรษฐกิจ 5 ปี และ 15 ปี
  • การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป โดยที่ประชุมธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มคงนโยบายการเงิน ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการเข้าซื้อสินทรัพย์ ตามเดิม แต่ต้องติดตามการประมาณการเศรษฐกิจของยุโรปครั้งใหม่ และมุมมองของธนาคารกลางยุโรปต่อแนวโน้มการปรับเพิ่มสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา
  • ตัวเลขเศรษฐกิจ

สหรัฐฯ  ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต การเปิดรับสมัครงาน ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ยุโรป    GDP ในไตรมาสที่ 4/2020 และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

เยอรมนี    ยอดส่งออก และดัชนีราคาผู้บริโภค

อังกฤษ    ดุลการค้า และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

ญี่ปุ่น    GDP ในไตรมาสที่ 4/2020 และยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักร

จีน    การปล่อยสินเชื่อในสกุลหยวน ปริมาณเงินในระบบ M2 ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต

ไทย    ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

วิเคราะห์โดย: นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP®  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด  นายจตุรภัทร ทนาบุตร ผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด