งานมหกรรมเทคโนโลยีประกันภัยสุดยิ่งใหญ่ “Thailand InsurTech Fair 2022” ภายใต้แนวคิด “Reshaping Insurance to the Multiverse of InsurTech for the Future ก้าวสู่จักรวาลแห่งเทคโนโลยีประกันภัย เพื่อโลกใหม่ ไร้ขีดจํากัด” เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 6 และทางออนไลน์ www.TIF2022.com โดย highlight อันหนึ่งของงาน คือการเติมเต็มความรู้ด้านเทคโนโลยีประกันภัยจากเหล่าวิทยากรมากประสบการณ์ที่มาแปรเทคนิค บทเรียน สารพัดประสบการณ์กับเส้นทางประกันภัยยุคดิจิทัล
ซึ่งดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นคนแรกที่เปิดประเดิมมุมมองของ Regulator ในประเด็น “Striving for Hypergrowth in the Era of Insurance Multiverse” หรือ “การมุ่งสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดด ภายใต้จักรวาลใหม่ของการประกันภัย”
โดยได้ย้ำว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคน Smart Phone และอุปกรณ์ Device ต่าง ๆ เป็นเรื่องปกติไปแล้ว โควิด-19 ได้ทำให้ทุกคนคุ้นชินกับการนำเทคโนโลยีและทำให้การดำรงชีวิต ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ภาคธุรกิจประกันภัยก็ปรับเปลี่ยนตัวเองใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเห็นได้ชัดจากเทรนด์ของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle ถือได้ว่ามาแรงมากในขณะนี้เพราะประชาชนเริ่มหันมาสนใจเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น ส่งผลต่อธุรกิจประกันรถยนต์อย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย รวมไปถึงการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแตกต่างจากรถยนต์ปัจจุบันโดยสิ้นเชิง
อีกเทคโนโลยีที่ต้องกล่าวถึงคือ Metaverse การผสานสภาพแวดล้อมของโลกแห่งความจริงและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จนกลายเป็น “ชุมชนโลกเสมือนจริง” ที่ผสานวัตถุรอบตัวและสภาพแวดล้อมให้เชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวโดยอาศัยเทคโนโลยี AR และ VR เข้ามาช่วยเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อให้กลายเป็นพื้นที่โลกเดียวกัน โดยคาดว่าแต่ละคนจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวันในโลกเสมือนจริงนี้ ซึ่ง Metaverse จะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับบริษัทประกันภัยทั้งการมีพื้นที่ในการติดต่อสื่อสารพบปะกับลูกค้าเพื่อเสนอขายและให้บริการประกันภัยสร้างการรับรู้ BrandRepresentation ในโลกเสมือน หรือจะใช้พื้นที่นี้สำหรับอบรมและสื่อสารกับพนักงานของบริษัทได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น มุมมองและรูปแบบในการดำเนินธุรกิจประกันภัยต้องเปลี่ยนไปจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ประเด็นแรก กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจควรมุ่งสู่ Ecosystem Strategy การดำเนินธุรกิจประกันภัยต้องเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มและธุรกิจอื่นมากขึ้น (Insurance Liquid Ecosystem) ทั้งภายในอุตสาหกรรมประกันภัยและระหว่างอุตสาหกรรมอื่น (Cross-industry) ความเชื่อมโยงนี้มีความหมายเกินกว่าเรื่อง Cross Selling เพราะการดำเนินธุรกิจประกันภัยไม่ใช่เพียงแค่การใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเพื่อเสนอขายในช่องทางที่หลากหลาย แต่โจทย์ใหม่ คือ
ทำอย่างไรจึงจะเชื่อมโยงและเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Ecosystem อื่น ๆ เพื่อสามารถให้ความคุ้มครองและบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดประเด็นถัดมา คือ การขยายมุมมองของการประกันภัย จากการรับโอนความเสี่ยง (Risk Transfer) จ่ายเงินชดเชยเมื่อเกิดความเสียหาย ไปสู่การให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือลูกค้าในการป้องกันความเสี่ยง (Risk Prevention)เพื่อมิให้เกิดความเสียหาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีประกันภัยไซเบอร์ ซึ่งบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ
จะให้บริการประเมินจุดเสี่ยง และให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับการปิดช่องโหว่ทางไซเบอร์ หรือปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสการถูกโจมตี ข้อมูลรั่วไหล หรือให้สามารถกู้คืนข้อมูลได้เร็วขึ้น ควบคู่ไปกับการรับประกันภัย ซึ่งเป็นผลดีกับทั้งลูกค้าและบริษัทประกันภัย ในแง่ของการลดความสูญเสียและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งแนวคิดนี้ควรนำมาปรับใช้กับประกันภัยประเภทอื่น ๆ ด้วย เช่น ประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทควรมีบทบาทส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีพฤติกรรมการขับรถที่ดี ไม่ประมาท ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียบนท้องถนน ผ่านการรณรงค์ให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ telematics การติด Sensor เพื่อติดตามพฤติกรรมการขับขี่ หรือ สำหรับประกันสุขภาพ ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้คนมีพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น เช่นการใช้ Wearable Devices และ IoT เข้ามาช่วย เป็นต้น ดังนั้น
สิ่งที่ต้องการเน้นให้เห็น คือ เทคโนโลยีถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทสามารถช่วยเหลือหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าในการลดความเสี่ยงได้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับความท้าทายของสำนักงาน คปภ. ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจโดยรวมสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที สอดคล้องกับบริบทความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงผันผวนตลอดเวลา ซึ่งบทบาทของการเป็น Facilitator สนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทให้สามารถพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเติบโตอย่างก้าวกระโดดจะเด่นชัดขึ้น ในขณะที่บทบาทของ Regulator ยังคงต้องมีอยู่เพื่อคอยดูแลและติดตามเสถียรภาพความมั่นคงของธุรกิจประกันภัยยกระดับมาตรการการดำเนินงานของธุรกิจให้เทียบเท่าสากลควบคู่ไปกับการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้มีการดำเนินการเพื่อเร่งให้อุตสาหกรรมประกันภัยเกิดการปรับเปลี่ยนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใน 7 มิติหลัก ๆ คือ มิติแรก การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลและขยายขอบเขตการเชื่อมโยงข้อมูลการประกันภัย มิติที่ 2 การพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกัน มิติที่ 3 การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สอดรับกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความต้องการของประชาชน มิติที่ 4 การปรับปรุงหลักเกณฑ์และนโยบายในการกำกับดูแลเพื่อเอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม มิติที่ 5 การยกระดับการป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยด้วย AI และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มิติที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยด้วยเทคโนโลยี และมิติที่ 7 การพัฒนาสำนักงาน คปภ. เพื่อมุ่งสู่การเป็น SMART OIC
ในตอนท้ายของการบรรยายหัวข้อดังกล่าว เลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อแนะนำที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจประกันภัยในอนาคตเพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใต้จักรวาลใหม่ของการประกันภัย โดยใช้หลัก “3R” คือ R ตัวแรก Reconsider Your Customer Experience ทำความเข้าใจความคาดหวังของลูกค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์และตรงใจ R ตัวที่สอง Revamp Your Business Strategy with Technology and Data ปรับโฉมกลยุทธ์ทางธุรกิจ ให้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากข้อมูลให้มากที่สุด และR ตัวที่สาม Reshape Your Organization with Agility and Innovation ตั้งเป้าหมายองค์กรใหม่ มุ่งสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี
“โอกาสของธุรกิจประกันภัยยังมีอีกมากมาย เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพาธุรกิจ
เข้าสู่จักรวาลใหม่นี้ หากองค์กรใด สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม ถูกจังหวะและเวลา จะเข้าถึงโอกาสนั้นได้ สามารถให้บริการกับกลุ่มลูกค้าและความต้องการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยให้บริการได้มาก่อน ได้อีกมากมายมหาศาล สำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะช่วยเสริมสร้าง เพิ่มความเข้มแข็ง สร้างสรรค์โอกาส เปิดมิติใหม่ สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการยกระดับกรอบการกำกับดูแล ปรับหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อให้ธุรกิจประกันภัยไทยเข้าสู่จักรวาลใหม่ New Era of Insurance Multiverse มาร่วมกันใช้ InsurTech เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบใหม่ ๆ ให้ตรงใจ และตอบความต้องการของประชาชนให้ดีที่สุด” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย