นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แม้ว่าตลาดการเงินสหรัฐฯ จะหยุดทำการเนื่องในวันหยุด Labor Day ทว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลัก การกลับมาใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้นของทางการจีน รวมถึงความกังวลวิกฤตพลังงานในยุโรป หลังรัสเซียยุติการส่งแก๊สธรรมชาติให้ยุโรปอย่างไม่มีกำหนด โดยความกังวลวิกฤตพลังงานในยุโรปนั้น ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ปรับตัวลดลงกว่า –0.62% ท่ามกลางกังวลว่าเศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะหากธนาคารกลางยุโรป (ECB) จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อที่อาจเลวร้ายลงได้ หากยุโรปเผชิญวิกฤตพลังงาน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 110 จุด หนุนโดยความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและการอ่อนค่าของเงินยูโร (EUR) ต่ำกว่าระดับ 0.99 ดอลลาร์ต่อยูโร ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบกว่า 20 ปี ท่ามกลางความกังวลวิกฤตพลังงานในยุโรป ก่อนที่ดัชนีเงินดอลลาร์จะย่อตัวลงเล็กน้อย กลับมาแกว่งตัวใกล้ระดับ 109.8 จุด จากแรงขายทำกำไรของผู้เล่นบางส่วนในตลาด อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า ในระยะสั้นเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways และอาจผันผวนหนักในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB ในวันพฤหัสฯ นี้ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงหลังการประชุมเฟดเดือนกันยายน หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะเคลื่อนไหว sideways รวมถึงตลาดการเงินโดยรวมยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดยังคงเป็นอุปสรรคที่กดดันให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,720-1,725 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดประเมินว่า ดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการบริการสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากพฤติกรรมของชาวอเมริกันที่เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของตลาดบ้านสหรัฐฯ ที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยบ้าน ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 2.35% (ขึ้น 0.50%) หลังเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวดีขึ้นและสามารถรับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางความกังวลวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรป ที่ยังคงกดดันสกุลเงินยูโร (EUR) และหนุนเงินดอลลาร์อยู่ นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน จนกว่าจะรับรู้ผลการประชุม ECB ในวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้เงินบาทยังเคลื่อนไหวในกรอบ sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ ทั้งนี้ เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าในระหว่างวันได้ หากตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติม แต่เราคาดว่า แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงได้ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจรอจังหวะการย่อตัวลงของตลาดหุ้นไทย (รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาท) ก่อนที่จะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า เงินบาทอาจส่งสัญญาณกลับตัว แข็งค่าขึ้นได้จากสัญญาณเชิงเทคนิคัล “Bearish Divergence” ของ RSI ที่ชัดเจนมากขึ้น หลังค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาดในวันก่อนหน้า
อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.60 บาท/ดอลลาร์