ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.47 บาทต่อดอลลาร์

0
1008

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะในฝั่งเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯและยุโรปที่มีความเสี่ยงชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงแนวโน้มที่อิหร่านอาจกำลังมาผลิตและส่งออกน้ำมัน หากบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงแรงต่อเนื่อง (น้ำมันดิบ WTI ราคาต่ำกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) กดดันให้หุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลงหนัก อาทิ Chevron -1.6%, Exxon Mobil -0.8% ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคฯ ซึ่งยังคงเผชิญแรงขายจากความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้ทำให้ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อ -0.78%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงกว่า -1.12% โดยผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ท่ามกลางแรงกดดันจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังเงินเฟ้อยูโรโซนล่าสุดพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งตลาดกังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว รวมถึงความเสี่ยงวิกฤติพลังงานอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ในที่สุด

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าภาพรวมตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่าแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยและจะไม่รีบลดดอกเบี้ยในปีหน้าอย่างที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้ (ล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ตลาดมองว่าเฟดมีโอกาสที่จะคงดอกเบี้ย ณ ระดับ 4.00% จนถึงช่วงกลางปีหน้า จากเดิมที่เคยมองว่าเฟดจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี) ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 3.19% เรามองว่า ในระยะสั้น ประเด็นการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและแนวโน้มเฟดเร่งอัตราการลดงบดุล (Balance Sheet Reduction หรือ Quantitative Tightening) สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง แต่ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง จะหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ในช่วงบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ปรับตัวขึ้นไปได้ไกล หรือ ทะลุจุดสูงสุดในปีนี้ที่ 3.50%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 108.9 จุด กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า ECB อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวน ทั้งนี้ แม้ตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องหลุดแนวรับที่เราคาดการณ์ไว้ สู่ระดับ 1,718 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้มีผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในเดือนสิงหาคม โดยตลาดประเมินว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรม ที่อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 52 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ตามการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกและปัญหาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปอาจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของเยอรมนีในเดือนกรกฎาคมที่อาจหดตัว -0.1% จากเดือนก่อนหน้า

และในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ได้แรงหนุนจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ดีกว่าคาด จะช่วยหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) เดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 50 จุดได้ อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยอาจขยายตัวในอัตราชะลอลงในเดือนสิงหาคม ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จะลดลงสู่ระดับ 52 จุด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ หลังจากที่ล่าสุด เงินบาทอ่อนค่าทะลุแนวต้านแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ ทำให้มีความเสี่ยงที่เงินบาทอาจอ่อนค่าใกล้โซนแนวต้านใหม่ในช่วง 36.75 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงยังคงเป็นการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว (เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเมื่อคืนนั้น ส่วนใหญ่มาจากแรงกดดันของธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และในช่วงนี้เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำถึง 62%)

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังพอจะได้รับแรงหนุนช่วยชะลอการอ่อนค่าได้ หากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยซื้อสุทธิหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวอยู่ เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50-36.75 บาท/ดอลลาร์