ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.41 บาทต่อดอลลาร์

0
976

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย/บอนด์ยีลด์ อย่าง หุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth (Meta -1.6%, Apple -1.4%) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ (ล่าสุดตลาดมองโอกาสราว 72.5% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายน) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +2.3%, Chevron +0.8%) หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า กลุ่ม OPEC+ อาจตัดสินใจลดกำลังการผลิตลงได้ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -1.02% ส่วนดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด -0.67%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.81% ท่ามกลางแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ (ASML -3.5%, Adyen -1.7%) หลังตลาดเริ่มมมองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.75% ได้ในการประชุมเดือนกันยายน เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 108.6 จุด แม้ว่าตลาดจะยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผู้เล่นบางส่วนอาจคงสถานะการถือครองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทว่า เงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.00 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB อาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง นอกจากนี้ เงินยูโรยังได้แรงหนุนจากความเสี่ยงวิกฤติพลังงานในยุโรปที่คลี่คลายลงไปบ้าง หลังทางการเยอรมนีประเมินว่า ราคาแก๊สธรรมชาติอาจปรับตัวลดลงได้ เนื่องจากเยอรมนีมีแนวโน้มที่จะสำรองแก๊สธรรมชาติได้ตามแผนเร็วขึ้น ทั้งนี้ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นและแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,752 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่าการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำยังคงถูกกดดันด้วยแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้เราคงมองว่า ราคาทองคำจะยังคงแกว่งตัว sideways ในกรอบต่อ

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board (Consumer Confidence) ซึ่งตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 97.7 จุด ในเดือนสิงหาคม ตามการปรับตัวลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งช่วยหนุนให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น นอกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้างและยังมีความเสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงได้บ้าง หากเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มจำกัดลง และคาดว่าเงินบาทอาจยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่าย นอกจากนี้ เรามองว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่ได้เร่งรีบเทขายสินทรัพย์ไทย ดังจะเห็นได้จากฟันด์โฟลว์ในวันก่อนหน้าที่ยังคงไหลเข้าสุทธิ (นักลงทุนต่างชาติ ขายหุ้นสุทธิ -107 ล้านบาท และซื้อสุทธิบอนด์ 542 ล้านบาท) และเรามองว่า การปรับตัวลดลงของหุ้นไทยอาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวลงได้

อนึ่งในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงและมีหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการเงินเฟด เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.45 บาท/ดอลลาร์