นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักที่ลดลง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกที่สำรวจโดยเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย (Philly Fed Manufacturing Index) เดือนสิงหาคมที่พุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.2 จุด ดีกว่าคาด รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงสู่ระดับ 2.5 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ได้อีกครั้ง (ConocoPhillips +3.5%, Exxon Mobil +2.4%) ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว +0.23%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.39% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.6%, TotalEnegies +2.4%) แม้ว่าตลาดจะยังคงถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย รวมถึงแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังเงินเฟ้อของทั้งยูโรโซนและอังกฤษยังอยู่ในระดับที่สูงมาก
ทางด้านตลาดบอนด์ แนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้น รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้ช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.89% ซึ่งเราคาดว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในการทยอยเพิ่มสถานะการลงทุน เพื่อเตรียมปรับพอร์ตการลงทุนรับมือกับแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในอนาคต ตามธีมการลงทุน Yields Curve Flattening ที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกเพิ่มการถือครองบอนด์ระยะยาว พร้อมกับเก็งกำไรว่าบอนด์ยีลด์ระยะสั้นอาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตามการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 107.5 จุด ซึ่งเป็นการกลับมาแข็งค่าที่สุดในรอบ 1 เดือน หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงแนวโน้มเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.009 ดอลลาร์ต่อยูโร ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,771 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวได้บ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในสัปดาห์นี้
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ยังคงออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่อง จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าสามารถควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ อาทิ James Bullard ประธานเฟดสาขา St. Louis ยังคงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ของเฟด ในการประชุมเดือนกันยายน และเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนกว่าดอกเบี้ยนโยบายจะแตะระดับ 3.75%-4.00% ภายในปีนี้ ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดอย่างใกล้ชิดในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Holes รัฐ Wyoming ในสัปดาห์หน้า
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ท่ามกลางแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ หลังจากที่เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.60 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ในวันก่อนหน้า จากแรงกดดันทั้งการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายทำกำไรสถานะการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าของนักลงทุนต่างชาติที่สะท้อนผ่านโฟลว์ธุรกรรมขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นราว 5.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาทองคำ ก็ทำให้มีโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเกือบ 1% ในช่วงวันที่ผ่านมา และจะยังเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท แต่เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจเริ่มแกว่งตัวในกรอบเนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอปัจจัยใหม่ๆ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยใหม่ๆ ที่ตลาดรออาจเป็น ถ้อยแถลงของบรรดาประธานธนาคารกลาง โดยเฉพาะประธานเฟด ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Holes รัฐ Wyoming ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราเคยประเมินไว้ ทำให้แนวต้านถัดไปของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 35.75-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจากสัญญาณทางเทคนิคัลทั้งจาก RSI และ MACD ก็ชี้ว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้ในระยะสั้น แต่หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องรุนแรงและพลิกกลับมาแข็งค่าจนหลุดระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง จะทำให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทเข้าเงื่อนไขรูปแบบ Head and Shoulders ซึ่งอาจสะท้อนว่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่องได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.55-35.75 บาท/ดอลลาร์