ในช่วงวันหยุดในฝั่งไทย ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องจากความกังวลทั้งปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน จากแนวโน้มบรรดาประเทศฝั่งตะวันตกอาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย รวมถึงประเด็นล่าสุด คือ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม หรือ การประชุมครั้งถัดๆ ไป และ การเร่งปรับลดงบดุล (QT) ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าในการลดงบดุลในรอบปี 2017-2019 โดยความกังวลเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้เพิ่มสูงขึ้น หลังเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งก่อนหน้ามักจะสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ไม่เข้มงวดมากนัก อย่าง Lael Brainard ได้ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกับเร่งลดงบดุล นอกจากนี้ รายงานการประชุมเฟดเดือนมีนาคม (FOMC Meeting Minutes) ที่เฟดเปิดเผยในเวลา 01.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ยังได้ระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่เห็นชอบการเร่งลดงบดุล โดยเบื้องต้นประเมินอัตราการลดงบดุลสูงสุด สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และ สำหรับตราสาร Agency MBS, MBS ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านก็เห็นชอบการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมครั้งถัดๆ ไป เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
ท่าทีของเฟดที่อาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ได้กดดันให้ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นเทคฯ กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.22% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลงราว -0.97% ขณะที่ ดัชนี Dowjones ซึ่งมีหุ้นเทคฯ น้อย ย่อตัวลงเพียง -0.42%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -2.38% เช่นกัน จากแรงขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม โดยเฉพาะการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นยุโรปต่างก็เร่งเทขายหุ้นเทคฯ ตามฝั่งสหรัฐฯ เช่นกัน นำโดย Adyen -7.2%, ASML -4.6% อนึ่ง เราคงมองว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังคงมีความเสี่ยงที่จะผันผวนต่อในระยะสั้น จากความไม่แน่นอนของสงครามและการเจรจาสันติภาพ ทำให้ Risk/Reward ยังไม่น่าสนใจและแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนหนัก โดยในช่วงแรกบอนด์ยีลด์ 10ปี ปรับตัวสูงขึ้นแตะดับ 2.65% จากแนวโน้มการเร่งลดงบดุลของเฟด ก่อนที่จะย่อตัวลงในช่วงหลัง จากความกังวลว่า การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจกดดันเศรษฐกิจและนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดโดยรวม กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงและยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.58% อย่างไรก็ตาม เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ หากความกังวลปัญหาสงครามลดลง และตลาดกลับมารับรู้การเร่งลดงบดุลของเฟดในระยะถัดไปมากขึ้น
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 99.57 จุด ทำจุดสูงสุดใหม่ในปีนี้ และเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมในปี 2020 ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์สงครามและความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน รวมถึงแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่า เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนยังคงถือครองทองคำ เพื่อหลบความผันผวนในระยะสั้น ทำให้ราคาทองคำสามารถทรงตัวเหนือระดับ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ล่าสุด เพื่อประเมินโอกาสที่ ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปอาจยังมีความไม่แน่นอนอยู่จากผลกระทบของสงคราม ซึ่งหาก ECB ยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและมองว่ามีโอกาสที่ ECB อาจขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่หนุนให้ เงินยูโร (EUR) แข็งค่าขึ้นได้บ้าง
นอกเหนือจากรายงานการประชุมล่าสุดของ ECB และแนวโน้มสถานการณ์สงคราม รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน ที่ยังมีการระบาดที่รุนแรงอยู่และอาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนในระยะสั้น ซึ่งอาจส่งผลมายังบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งเอเชียได้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยในระหว่างวัน เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อได้ จากแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าที่มาจากแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่าอยู่ จากความกังวลของตลาดต่อสถานการณ์สงคราม รวมถึงท่าทีการเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ขณะเดียวกัน ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนก็อาจยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนในฝั่งเอเชีย
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจผันผวนในช่วงใกล้รับรู้รายงานการประชุมของ ECB เพราะหาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้ ก็อาจหนุนให้ เงินยูโรแข็งค่าขึ้นและกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง นอกจากนี้ ในระหว่างวัน ควรจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเรามองว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ยังเดินหน้า ซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย จะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากในระยะนี้ได้
อนึ่ง เงินบาทยังคงมีแนวต้านในโซน 33.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าบรรดาผู้ส่งออกก็ต่างรอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญในระยะสั้นจะอยู่ในช่วง 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งบรรดาผู้นำเข้าอาจรอจังหวะ buy on dip อยู่ ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.70 บาท/ดอลลาร์
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย