ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.56 บาทต่อดอลลาร์  “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.77 บาทต่อดอลลาร์

0
1159

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอคอยรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินโอกาสที่เฟดจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดไป หลังจากที่ล่าสุด รายงานข้อมูลตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งได้หนุนให้ตลาดกลับมามองว่า เฟดมีโอกาสถึง 64% ในการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ณ การประชุมเดือนกันยายน (จาก CME FedWatch Tool) ซึ่งท่าทีที่ระมัดระวังของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ โดยดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปิดตลาด -0.12%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.74% หลังจากที่ปรับตัวลงแรงในท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย โดยตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้หุ้นสไตล์ Growth และหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Cyclical ต่างปรับตัวดีขึ้น อาทิ Adyen +4.1%, UBS +1.6%, Kering +1.3%

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดเริ่มมีโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง ทว่า ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอยู่ หนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้นในจังหวะที่บอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 2.75% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเคลื่อนไหวในกรอบในระยะสั้นไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI รวมถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินเฟด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเล็กน้อยเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากปรับตัวแข็งค่าขึ้นในท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 106.3 จุด ตามแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์ยังคงเคลื่อนไหว sideways อนึ่ง การปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,805 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจมีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดอาจยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบเนื่องจากผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่จะยังคงรอติดตามรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสหรัฐฯ ที่จะทราบในช่วงค่ำของวันพุธนี้ (เวลาประมาณ 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) อย่างไรก็ดี ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของไทยนั้น เราประเมินว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับภาระค่าใช้จ่ายของผู้คนด้านพลังงานที่ลดลงตามการปรับตัวลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนกรกฎาคม อาจช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 41.8 จุด ในเดือนกรกฎาคมได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวผันผวนในกรอบ sideways จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบทิศทางเงินบาท อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ รวมถึง แรงซื้อหุ้นไทยสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ และแรงซื้อบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติบางส่วนที่เริ่มกลับเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นเร็วไปมากนัก เนื่องจากผู้นำเข้าบางส่วนอาจรอทยอยซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้น ทำให้เงินบาทอาจมีแนวรับใหม่ในโซน 35.40-35.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนโซนราคา 35.80-36.00 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นโซนแนวต้านใหม่ของเงินบาทในช่วงนี้ ซึ่งเราเริ่มเห็นผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าวพอสมควร รวมถึงผู้เล่นต่างชาติที่รอทยอยเพิ่มสถานะการเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าในโซนดังกล่าว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์