ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.66 บาทต่อดอลลาร์​ “อ่อนค่าลง”  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.61 บาทต่อดอลลาร์

0
1399

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนและผู้เล่นในตลาดต่างไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติมมากนัก โดยผู้เล่นในตลาดต่างรอติดตามรายงานผลการประชุมเฟด (ทราบผลการประชุมในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้) และรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon และ Microsoft เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังเชื่อในภาวะตึงตลาดของตลาดน้ำมัน ได้หนุนให้หุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวขึ้น (Exxon Mobil +3.3%, Chevron +3.0%) ทำให้ดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.13% ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลงราว -0.43% ตามแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นเทคฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.13% หลังจากเผชิญความผันผวนและแรงกดดันจากความกังวลวิกฤติพลังงาน หลังที่บริษัท Gazprom ของรัสเซียเปิดเผยว่าจะลดปริมาณการส่งแก๊สผ่านท่อ Nord Stream 1 นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่สะท้อนผ่านรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวลดลงแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมถึงหุ้นกลุ่มการเงิน

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว ทว่าผู้เล่นบางส่วนก็ขายทำกำไรบอนด์ระยะยาวออกมาบ้างในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 2.80% ซึ่งเราคาดว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 106.4 จุด ตามการลดสถานะถือครองเงินดอลลาร์ของผู้เล่นบางส่วน หลังตลาดประเมินว่า เฟดอาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่เคยกังวล อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง แต่การรีบาวด์ขึ้นมาของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และแรงขายทำกำไรราคาทองคำก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ได้กดดันให้ราคาทองคำพลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง อนึ่งการปรับตัวลดลงของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะ หุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Microsoft และ Alphabet (Google) ซึ่งหากผลประกอบการออกมาดีกว่าคาดก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงและกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงหรือแกว่งตัว sideways ได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าต่อเนื่องของเงินบาทได้บ้าง แต่โดยรวมเงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความเสี่ยงที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หากตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง โดยเฉพาะในกรณีที่สินทรัพย์ฝั่ง EM Asia เผชิญแรงเทขาย ซึ่งอาจเกิดขึ้นหากทางการจีนตัดสินใจใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 โดยในกรณีดังกล่าว เงินบาทก็อาจอ่อนค่ากลับไปแถว 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่เรามองว่า ในสัปดาห์นี้ เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว หากสุดท้ายเฟดไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่ตลาดเคยกังวล กดดันให้เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาท/ดอลลาร์
_______________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย