ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในฝั่งสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังเดินหน้าทยอยซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Meta +4.2%, Amazon +3.9%) จากมุมมองที่คาดว่าเฟดอาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างที่เคยกังวล หนุนให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.58% ส่วนดัชนี S&P500 สามารถปิดตลาด +0.59%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวลดลงราว -0.21% ท่ามกลางความกังวลปัญหาการเมืองในอิตาลีที่กดดันให้ตลาดหุ้นอิตาลีปรับตัวลดลงแรงกว่า -1.60% ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลวิกฤติพลังงานอีกครั้ง เพราะแม้ว่ารัสเซียอาจกลับมาดำเนินการส่งแก๊สธรรมชาติผ่านท่อ Nord Stream 1 หลังครบกำหนดการซ่อมบำรุง แต่ทางประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ได้เตือนว่า ปริมาณการส่งแก๊สอาจลดลงและรัสเซียก็อาจหยุดส่งแก๊สได้
ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ที่เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 3.02% แต่โดยรวมการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีลักษณะเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจาก ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ก่อน เพื่อจับตาท่าทีต่อการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ ECB รวมถึงเครื่องมือ Anti-Fragmentation Tool ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรปและฝั่งสหรัฐฯ ได้เช่นกัน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้กลับมาปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 107.1 จุด แม้จะถูกกดดันโดยภาพรวมของตลาดการเงินที่ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่เงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนจากการกลับมาอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.018 ดอลลาร์ต่อยูโร อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลวิกฤติพลังงาน อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาผลการประชุม ECB ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครอง ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กดดันให้ ราคาทองคำปรับตัวลดลงแตะระดับ 1,692 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญของตลาดจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) 0.25% สู่ระดับ -0.25% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาท่าทีของ ECB ต่อโอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% ในอนาคต เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจขึ้นกับมุมมองของ ECB ต่อภาพเศรษฐกิจยุโรป และนอกเหนือจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ตลาดคาดว่า ECB อาจเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือ Anti-Fragmentation Tool เพื่อควบคุมปัญหาภาระหนี้ของบรรดาประเทศสมาชิก อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนในฝั่งตลาดบอนด์ที่อาจเกิดขึ้น หากสุดท้าย ECB ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของเครื่องมือดังกล่าวมากนัก ซึ่งอาจยิ่งทำให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่มีความเปราะบางต่อปัญหาหนี้ อาทิ อิตาลี พุ่งสูงขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี อิตาลี กับเยอรมนี ที่จะปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาปัญหาวิกฤติพลังงานยุโรป หลังครบกำหนดซ่อมบำรุงท่อส่งแก๊ส Nord Stream 1 ว่ารัสเซียจะลดปริมาณการส่งแก๊สหรือยุติการส่งแก๊ส ซึ่งภาพดังกล่าวอาจยิ่งกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปและอาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์ฝั่งยุโรป อาทิ หุ้นและเงินยูโร (EUR) ได้
ส่วนในฝั่งเอเชีย แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและความจำเป็นที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องช่วยคุมต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลและภาคเอกชน ทำให้ BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายสวนทางกับธนาคารกลางหลักอื่นๆ อาทิ การตรึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี ไม่ให้เกินระดับ 0.25% (ซื้อบอนด์แบบไม่จำกัด) และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินดังกล่าวอาจกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ในระยะนี้
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ตลาดจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนหนัก ไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ สองเรื่อง ในวันนี้ คือ ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง แนวโน้มวิกฤติพลังงานของยุโรป โดยหาก ECB ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด หรือ ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็อาจช่วยหนุนให้เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่เรามองว่า ความเสี่ยงวิกฤติพลังงานจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินยูโร (EUR) อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปมากและกลับกัน หากรัสเซียลดหรือยุติการส่งออกแก๊สจริง ก็อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แม้ ECB จะส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม
ดังนั้น เราจึงมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีความเสี่ยงที่หากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวจะสามารถอ่อนค่าต่อไปทดสอบระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีที่ยุโรปเผชิญวิกฤติพลังงานตามที่ตลาดกังวล ทั้งนี้ ผู้ส่งออกจำนวนมากต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ทำให้เรามองว่า หากสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ไม่ได้ถูกเทขายรุนแรง เงินบาทก็อาจจะยังไม่อ่อนค่าทะลุ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้นได้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ดังจะเห็นได้จากความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปี ที่ระดับ +2 S.D. (Standard Deviation) เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์
____________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย