ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.24 บาทต่อดอลลาร์​  “อ่อนค่าลง”  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.17 บาทต่อดอลลาร์

0
1337

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนักหรือถดถอย จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ ประธานเฟดได้ออกมาย้ำจุดยืนในการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แม้ว่าจะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงก็ตาม ซึ่งความกังวลดังกล่าวทำกอปรกับรายงาน GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกที่หดตัว -1.6% แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็ทำให้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วกดดันให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานล้วนปรับตัวลงแรง อาทิ Conoco Phillips -4.0%, Exxon Mobil -3.7%, Chevron -2.0% กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นำโดย Meta (Facebook) +2.0%, Microsoft +1.5%, Amazon +1.4% ทำให้ ดัชนี S&P500 ย่อตัวลงเพียง -0.07%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลดลง -0.67% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเสี่ยงที่จะถดถอยจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวกับภาวะเศรษฐกิจ อย่าง กลุ่มยานยนต์ Volkswagen -1.3%, กลุ่มการเงิน UBS -1.9% เป็นต้น

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักหรือถดถอย ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.08% ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงมีความผันผวนอยู่สูง จนกว่าที่ตลาดจะมั่นใจว่า เฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากกว่าคาด (ขึ้นดอกเบี้ย 1.00% ในการประชุมครั้งหน้า หรือ ขึ้น 0.75% ต่อเนื่องกันหลายครั้ง) ซึ่งในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น เราเชื่อว่าผู้เล่นบางส่วนจะรอทยอยซื้อ Buy On Dip โดยเฉพาะผู้เล่นที่มีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงหนักหรือถดถอยได้ในปีหน้า

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้กลับมาหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 105 จุด อีกครั้ง นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงเป็นอุปสรรคต่อราคาทองคำ ทำให้ราคาทองคำผันผวนหนัก แม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็ตาม โดยล่าสุดราคาทองคำแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะเงินเฟ้อ PCE โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อ PCE เดือนพฤษภาคม อาจเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 6.4% สอดคล้องกับรายงานเงินเฟ้อทั่วไป CPI ที่ออกมาก่อนหน้า ทำให้ตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจมีความจำเป็นในการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมอยู่

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า เศรษฐกิจจีนจะส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น จากอานิสงส์ของการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีน สะท้อนผ่าน ดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 จุด นอกจากนี้ ภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศโดยเฉพาะในฝั่งภาคการบริการที่คึกคักมากขึ้น จะสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการ ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.1 จุด เช่นกัน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนสูงต่อ กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงจากนักลงทุนต่างชาติที่อาจยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักหรือเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอย อย่างไรก็ดี หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาดีกว่าคาดและสะท้อนถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนหลังการผ่อนคลาย Lockdown ก็อาจช่วยหนุนบรรยากาศการลงทุนในฝั่งเอเชียและมีโอกาสช่วยหนุนให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง (correlation ระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนจีนในช่วงนี้อยู่ที่ประมาณ 70%)

ทั้งนี้ เรามองว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาของเงินบาทนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการกลับมาเก็งกำไรของผู้เล่นในตลาดที่มีทั้งการทยอยขายทำกำไรฝั่ง Long USDTHB และอีกส่วนก็เริ่มกลับมา Short USDTHB ตามความคาดหวังการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ดังจะเห็นได้จากยอดซื้อบอนด์ระยะสั้นสุทธิกว่า 5.2 พันล้านบาท ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งผู้เล่นกลุ่มดังกล่าวอาจรอดูความเคลื่อนไหวของเงินบาทว่าจะแข็งค่าหลุด 35 บาทต่อดอลลาร์ หรือ ไม่ ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนสถานะถือครอง ทำให้เรามองว่า โซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ยังเป็นแนวรับที่สำคัญในช่วงนี้ ส่วนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 35.30-35.40 บาทต่อดอลลาร์

อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาท/ดอลลาร์
______________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย