ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.22 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย​  จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.21 บาทต่อดอลลาร์

0
1132

สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินโดยรวมปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลกอาจชะลอลงหนักตามการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด รวมถึงเจ้าหน้าที่เฟด หลังจากล่าสุดเฟดได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยกว่า 0.75% และยังมีแนวโน้มเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – หลังจากที่เฟดได้เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 1.50%-1.75% พร้อมกับส่งสัญญาณทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนอาจแตะระดับสูงสุดที่ 4.00% ในปีหน้า ทำให้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ถึงมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ตาม Dot Plot ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอลงหนักและเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการแถลงต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด (Powell’s Testimony) โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้น ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงจากผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินของเฟดที่เข้มงวดมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนมิถุนายน ที่อาจลดลงสู่ระดับ 56 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ส่วนภาคการบริการอาจขยายตัวดีขึ้นในช่วงไฮซีซั่นของการเดินทางท่องเที่ยว โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.7 จุด

ฝั่งยุโรป – ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนัก จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลาง ทำให้ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยในฝั่งอังกฤษ ตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนพฤษภาคมจะอยู่ในระดับสูงถึง 9.1% กดดันให้การใช้จ่ายของผู้คนอาจชะลอตัวลง ซึ่งจะสะท้อนผ่านยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคมที่อาจหดตัว -0.7%m/m นอกจากนี้ ภาคการผลิตและการบริการของอังกฤษก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนมิถุนายน อาจลดลงสู่ระดับ 53.7 จุด และ 53 จุด ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับในฝั่งยุโรป ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว จะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (IFO Business Climate) ที่จะลดลงสู่ระดับ 92.7 จุด ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ทั้งภาคการผลิตและการบริการของยุโรปก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการในเดือนมิถุนายน อาจลดลงสู่ระดับ 53.8 จุด และ 55.5 จุด ตามลำดับ ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB ที่อาจให้มุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของ ECB ที่ชัดเจนขึ้น

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังจากที่ทางการจีนสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะช่วยให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) สามารถคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี และ 5 ปี ไว้ที่ระดับ 3.70% และ 4.45% ตามลำดับ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ก็มีแนวโน้มได้รับอานิสงส์จากการทยอยฟื้นตัวของจีน ทำให้ ตลาดมองว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นอาจขยายตัวดีขึ้นในเดือนมิถุนายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.5 จุด นอกจากนี้ การทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศจากการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown จะหนุนการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53 จุด ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.5% จากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานและอาหาร รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 2.50% หลังเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวสูงขึ้นกว่าเป้าหมายของ BSP ไปมาก

ฝั่งไทย – ดุลการค้าในเดือนพฤษภาคมอาจขาดดุลราว -1.5 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นและปัญหาเงินบาทอ่อนค่าจะยิ่งหนุนให้ยอดการนำเข้าโตกว่า +18%y/y ในขณะที่ยอดการส่งออกอาจโตเพียง +8%y/y

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านในโซน 35.40 บาทต่อดอลลาร์ โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจยังคงมาจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกในช่วงตลาดปิดรับความเสี่ยง รวมถึงทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงไม่อ่อนค่าได้ง่ายนัก จนกว่าตลาดจะมั่นใจว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรามองว่า หากราคาทองคำมีการรีบาวด์ขึ้นมา ก็อาจมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ นอกจากนี้ เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ หากตลาดไม่ได้กังวลการเริ่มใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้งในบางพื้นที่ของจีน จนหันมาเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ทั้งหุ้นและบอนด์ อย่างรุนแรง

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่า ตามความผันผวนในตลาดการเงิน ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงได้ หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง หรือ ตลาดเริ่มทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้บ้าง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงสงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.90-35.50 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.10-35.35 บาท/ดอลลาร์
_____________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย