ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.05 บาทต่อดอลลาร์​  “แข็งค่าขึ้น”  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.16 บาทต่อดอลลาร์

0
1151

ผู้เล่นในตลาดการเงินพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและอาจเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ หลังบรรดาธนาคารกลางทั่วโลกต่างทยอยขึ้นดอกเบี้ยและยังส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ อาทิ เฟดส่งสัญญาณว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้สูงถึงระดับ 3.50% ในปีนี้ ส่วนในฝั่งยุโรป นักวิเคราะห์ก็เริ่มมองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก -0.50% ไปสู่ระดับ 1.00% เป็นอย่างน้อยในปีนี้

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ยังทำให้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่อาจแย่ลงและเลือกที่จะลดความเสี่ยงในการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นลง กดดันให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -4.08% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ร่วงลงกว่า -3.25% ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็ร่วงลงกว่า -2.47% สู่จุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือนเช่นกัน

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์โดยรวมปรับตัวผันผวน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจนใกล้ระดับ 3.50% จากแนวโน้มเฟดทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 3.23% ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจเริ่มทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก และหากมีมุมมองว่า การขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกรณีเลวร้ายสุด บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวลดลงได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวจะยังมีความผันผวนอยู่ จากความไม่แน่นอนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดว่าจะขึ้นไปได้สูงสุดเท่าใด (Terminal Rate สุดท้ายจะอยู่ตรงไหน) ที่ตลาดยังมีมุมมองที่แตกต่างจากเฟดอยู่

ในฝั่งตลาดค่าเงิน แม้ว่าตลาดจะพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่กลับไม่ได้ช่วยให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแต่อย่างใด โดย เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 103.6 จุด ตามการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของสกุลเงินฝั่งยุโรป นำโดยเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.235 ต่อปอนด์ หลังธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.25% และพร้อมทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน เงินยูโร (EUR) ก็ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.055 ดอลลาร์ต่อยูโร อีกครั้ง ตามแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของ ECB เช่นกัน นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงส่งผลให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,852 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า อาจมีผู้เล่นบางส่วนที่ได้ Buy on Dip ทองคำในจังหวะการปรับฐานก่อนหน้า เข้ามาทยอยขายทำกำไรทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้างในวันนี้

สำหรับวันนี้ ตลาดมองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย BOJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ -0.10% พร้อมทั้งคงเป้าหมายบอนด์ยีลด์ 10 ปี ที่ระดับ 0.00%+/-0.25% ซึ่งการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่สวนทางกับธนาคารกลางหลักอย่างเฟดจะสร้างแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าให้กับเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ไปจนกว่า BOJ จะเริ่มส่งสัญญาณพร้อมปรับนโยบายการเงิน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แม้เงินบาทจะพอได้แรงหนุนในฝั่งแข็งค่า จากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึง โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวน โดยแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่านั้น อาจมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลและความสับสนต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของไทย ซึ่งในระยะสั้นที่ผ่านมาผู้เล่นบางส่วนเริ่มประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีการประชุมฉุกเฉินเพื่อขึ้นดอกเบี้ยได้ แม้ว่า กนง. จะสื่อสารว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะประชุมฉุกเฉินก็ตาม

นอกจากนี้ เรามองว่า ผลการประชุม BOJ ที่อาจย้ำจุดยืนการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งสวนทางกับเฟด หรือ ธนาคารกลางอื่นๆ อาจกดดันให้ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงและกระทบกับเงินบาทได้เช่นกัน (เงินเยนอ่อนค่าลง ทำให้มีความต้องการแลกซื้อเงินเยนเพิ่มขึ้น ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่าได้)
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมีแนวต้านอยู่ในโซน 35.10-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ แต่ต้องจับตาทิศทางของเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวก็อาจมีแรงหนุนให้อ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบแนวต้านถัดไปในช่วง 35.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ซึ่งเราคงมองว่า เงินบาทจะยังไม่อ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวไปไกลมาก ยกเว้นจะเกิดภาพเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากจีนตัดสินใจ Lockdown วงกว้างอีกครั้ง

อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.20 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย