ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์​  “อ่อนค่าลง”  จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.81 บาทต่อดอลลาร์

0
1293

ตลาดการเงินผันผวนรุนแรงและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ซึ่งสะท้อนผ่านมุมมองของผู้เล่นในตลาดรวมถึงนักวิเคราะห์ที่เริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ หลังเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมออกมาสูงกว่าคาด ซึ่งความกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้กดดันให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างพากันเทขายสินทรัพย์ที่อ่อนไหวต่อการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย/บอนด์ยีลด์ โดยเฉพาะ หุ้นกลุ่มเทคฯ รวมถึงหุ้นสไตล์ Growth อย่าง Tesla -7.1%, Meta (Facebook) -6.4%, Amazon -5.5% ทำให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -4.68% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ร่วงลง -3.88% เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ความกังวลแนวโน้มทั้งเฟดและ ECB อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อยังคงกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเทขายหุ้นเทคฯ อาทิ Adyen -8.9%, ASML -4.4% ทำให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็ปรับตัวลดลงกว่า -2.41%

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทำให้คาดการณ์ Terminal Rate (จุดสูงสุดของดอกเบี้ยนโยบาย) ของเฟดนั้นปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.38% ทั้งนี้ แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้บอนด์ยีลด์ระยะสั้น โดยเฉพาะ บอนด์ยีลด์ 2 ปี ได้เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 3.39% ทำให้ในบางช่วงบอนด์ยีลด์ 2 ปี ปรับตัวสูงกว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หรือ เกิด Inverted Yields Curve อีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับผู้เล่นในตลาด เนื่องจากในอดีตที่ผ่านภาวะ Inverted Yields Curve ระหว่างบอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี มักเป็นสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจเกิดขึ้นในช่วง 1 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ดี เรามองว่า ภาวะ Inverted Yields Curve จากส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 2 ปี กับ 10 ปี อาจไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก โดยสัญญาณที่มีความแม่นยำและชัดเจนกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อมูลที่เฟดติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 3 เดือน กับ 10 ปี ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับกว่า 1.68% คิดเป็นโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 1 ปี ข้างหน้าไม่ถึง 10% (ทั้งนี้เฟดยังได้ติดตาม Near-term Forward Spread ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างคาดการณ์บอนด์ยีลด์ 3 เดือนล่วงหน้า 18 เดือน กับบอนด์ยีลด์ 3 เดือนล่าสุด ซึ่งปัจจุบันส่วนต่างดังกล่าวก็ยังสูงเกือบ 2.00%)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 105.2 จุด ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่พลิกกลับมาอ่อนค่าลงใกล้จุดอ่อนค่าสุดในปีนี้ ที่ระดับ 1.041 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกันกับเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่อ่อนค่าทำจุดต่ำสุดใหม่ในปีนี้ที่ 1.214 ดอลลาร์ต่อปอนด์ อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ ผู้เล่นบางส่วนเข้าถือเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทำให้ค่าเงินเยนไม่ได้อ่อนค่าหนักและทรงตัวใกล้ระดับ 134 เยนต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำร่วงลงสู่ระดับ 1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดคาดว่า แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี อาจช่วยหนุนให้บรรดานักลงทุนและผู้เล่นในตลาดการเงินมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนี สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมิถุนายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -26.8 จุด ดีขึ้นจาก -34.3 จุดในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจเยอรมนีจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและกดดันการใช้จ่ายของผู้คนได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านในโซน 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง หุ้นไทยได้

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทอาจอยู่ในโซนแนวต้านดังกล่าว เนื่องจากบรรดาผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ อนึ่ง เราคงมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ไปไกล หากตลาดการเงินไม่ได้เผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ที่รุนแรง ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ ตลาดกลับมากังวลแนวโน้มการใช้มาตรการ Lockdown ในวงกว้างของจีน

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.00 บาท/ดอลลาร์

__________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย