ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.51 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.54 บาทต่อดอลลาร์

0
1328

ตลาดการเงินยังคงผันผวนและเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ หลังจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งที่ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ อย่างใกล้ชิด

ความกังวลปัญหาเงินเฟ้อและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นกลับสู่ระดับ 3.03% อีกครั้ง ซึ่งความกังวลดังกล่าวได้กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -1.08% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนักและอาจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลัง แบบจำลอง GDPNow Tracker ของเฟดสาขาแอตแลนตา ได้ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจโตเพียง 0.9% ในไตรมาสที่ 2 หลังจากที่หดตัวกว่า -1.5% ทำให้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงต่อเนื่อง -0.47% กดดันโดยความกังวลแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ อนึ่ง ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ อาทิ Total Energies +1.5%, BP +1.1%

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบได้กลับมากดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อและทำให้เฟดอาจจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ โดยความกังวลดังกล่าว ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับ 3.03% สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมามองว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนทำให้ Terminal Rate ของเฟดอาจสูงราว 3.50% ได้ ซึ่งเรามองว่า ความไม่แน่นอนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด หรือ ระดับของ Terminal Rate จะเป็นปัจจัยที่ทำให้บอนด์ยีลด์ผันผวน จนกว่าตลาดจะรับรู้ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุด รวมถึงความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ผ่าน Dot Plot ใหม่จากการประชุมเดือนมิถุนายน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) รีบาวด์กลับสู่ระดับ 102.5 จุด อีกครั้ง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ อาจถูกจำกัดโดย แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องกลับสู่ระดับ 1.074-1.075 ดอลลาร์ต่อยูโร หาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจนในการประชุม ECB วันนี้อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าต่อเนื่องทะลุระดับ 134 เยนต่อดอลลาร์ เป็นที่เรียบร้อย อนึ่ง การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,855 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากที่ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านใกล้ระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับที่เราคาดว่าผู้เล่นในตลาดจะทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ ระดับ -0.50% ในการประชุมครั้งนี้ ก่อนที่จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ และทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate แตะระดับ 1.00% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาประมาณการเศรษฐกิจใหม่ของ ECB รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB ในช่วง Press Conference เพื่อประเมิน โอกาสที่ ECB อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% หรือมากกว่านั้น ในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อคุมเงินเฟ้อ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวน โดยในช่วงแรกเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงบ้าง ตามแนวโน้มเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่าขึ้นจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดและแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนและหลังรับรู้การประชุม ECB (เวลาประมาณ 18.45 น. ตามเวลาในประเทศไทย และ 19.30 น. สำหรับ Press Conference) เงินบาทมีโอกาสผันผวนหนักในช่วงดังกล่าว โดยเราประเมินว่า หาก ECB ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยชัดเจนและเตรียมยุติการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอี ก็อาจหนุนให้ เงินยูโร (EUR) กลับมาแข็งค่าขึ้น และกดดันเงินดอลลาร์ให้อ่อนค่าลงได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวพอจะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องชัดเจน แม้ว่า ECB จะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าตลาดจะรับรู้รายงานเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ซึ่งหากเงินเฟ้อชะลอตัวลงชัดเจนก็จะช่วยลดความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและทำให้เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้

ทั้งนี้ เราขยับกรอบแนวต้านของค่าเงินบาท หลังจากที่บรรดาผู้ส่งออกเริ่มประเมินเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงในระยะสั้น ซึ่งคาดว่าระดับ 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์จะเป็นโซนแนวต้านที่สำคัญ ซึ่งผู้ส่งออกอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว นอกจากนี้ หากเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีโอกาสที่ฝั่งผู้เล่นต่างชาติอาจกลับเข้ามาเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทได้อีกครั้ง ซึ่งต้องจับตายอดฟันด์โฟลว์บอนด์ระยะสั้นอย่างใกล้ชิด

ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.60 บาท/ดอลลาร์

______________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย