ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.41 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์

0
1320

แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวม โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย จะได้แรงหนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทว่าในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังจากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงออกมาแข็งแกร่ง ทำให้ ดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.31% หนุนโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่เผชิญแรงขายในสัปดาห์ก่อนหน้า อาทิ Amazon +2.0%, Alphabet (Google) +2.0% เป็นต้น

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นราว +0.92% หนุนโดยความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปรับตัวสูงขึ้น อาทิ Diageo +5.7%, Dior +1.36% ขณะเดียวหุ้นกลุ่มธนาคารต่างปรับตัวขึ้น Intesa Sanpaolo +3.3%, BBVA +3.0% หนุนตลาดหุ้นยุโรป จากแนวโน้มธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาประเมินว่า เฟดยังสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ได้อีกอย่างน้อย 3 ครั้ง จนกว่าเฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ทำให้ Terminal Rate ที่ตลาดมองล่าสุดปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 3.50% ซึ่งมุมมองการเร่งขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 3.04% อย่างไรก็ดีเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มผันผวน จนกว่าตลาดจะรับรู้ความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ผ่าน Dot Plot ใหม่จากการประชุมเดือนมิถุนายน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.5 จุด หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังจากที่ตลาดมองว่าเฟดยังมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 132 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯและญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น หลังผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงยืนกรานแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,841 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายพอสมควรเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ หลังเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น โดย RBA อาจขึ้นดอกเบี้ยราว 0.40% สู่ระดับ 0.75% และมีแนวโน้มที่ RBA จะส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าลงในช่วงระหว่างวัน จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ นอกจากนี้ เราเห็นสัญญาณการทยอยปิดสถานะเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาของผู้เล่นในตลาด (ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นกว่า 1.3 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว รวมถึงแรงขายทำกำไรหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติก็มีโอกาสที่ทำให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านไปมาก เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ อีกทั้งสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ก็เริ่มได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทำให้เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทยังมีอยู่อย่างจำกัดและเงินบาทจะอ่อนค่าหนักกลับไปทดสอบจุดอ่อนค่าสุดในปีนี้ที่โซน 35 บาทต่อดอลลาร์ ในกรณีที่ ทางการจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดของโอมิครอนอีกครั้ง กดดันให้เศรษฐกิจจีนซบเซาหนักและสร้างแรงเทขายสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia อีกระลอก

ทั้งนี้ เรามองว่า กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจอยู่ในโซน 34.20-34.50 จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาท อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.50 บาท/ดอลลาร์

_________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย