ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.09 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า

0
1360

แม้ว่าตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ จะหยุดทำการเนื่องในวันหยุด Memorial Day แต่บรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยความหวังทางการจีนเตรียมผ่อนคลายมาตรการ Lockdown พร้อมกับเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดการเงินที่คลายกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงิน โดยในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.59% นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากจีน อาทิ Hermes +3.9%. Kering +3.3%, Dior +2.9%

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 101.4 จุด ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด ทำให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.077 ดอลล์ต่อยูโร ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เริ่มกลับมาอ่อนค่าแตะระดับ 128 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อนึ่ง การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังไม่สามารถช่วยหนุนราคาทองคำได้มากนัก เนื่องจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงหนุนให้ผู้เล่นทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำยังคงติดแนวต้านในช่วง 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยตลาดมองว่า เงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคม อาจเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.7% จากระดับราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อนอย่างมาก ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจะหนุนโอกาสธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ECB อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ย จนอัตราดอกเบี้ยไม่ติดลบได้ภายในไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ในสัปดาห์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดประเมินว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มคึกคักมากขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนพฤษภาคมที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 33.8 จุด ส่วนในฝั่งจีน ตลาดมองว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการยังคงอยู่ที่ระดับ 48 จุด และ 45 จุด ตามลำดับ (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการบริการของจีนมีแนวโน้มพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น หลังสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ทางการจีนอาจทยอยผ่อนคลายหรือยุติมาตรการ Lockdown ได้ในเดือนมิถุนายน อีกทั้งทางการจีนและธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็ได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง รวมถึงฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ทยอยกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทยอาจช่วยหนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งแข็งค่าขึ้นได้บ้างระหว่างวัน อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก เนื่องจากผู้นำเข้าบางส่วนอาจทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ทำให้แนวรับหลักของเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ เรามองว่า กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจอยู่ในโซน 34.00-34.40 จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาท อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.00-34.20 บาท/ดอลลาร์

____________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย