ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.11 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย​ จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.15 บาทต่อดอลลาร์

0
1253

ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอลงจนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ได้กลับมากดดันตลาดการเงินอีกครั้ง หลังจากที่รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม ของสหรัฐฯ อังกฤษและยูโรโซน ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดก็กลับมากังวลแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่อาจแย่ลง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงและแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง หลังจากบริษัท Snap (เจ้าของแอพพลิเคชั่น Snapchat) แสดงความกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการในอนาคต รวมถึงระบุว่าบริษัทอาจชะลอการจ้างงานเพื่อควบคุมต้นทุน เช่นเดียวกันกับ บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า Abercrombie & Fitch ที่ปรับลดคาดการณ์รายได้และกำไรลง ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อสูงที่อาจกดดันการใช้จ่ายของผู้คน

ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนหนัก โดยหุ้นกลุ่มเทคฯ ยังคงเผชิญแรงขายจากความกังวลแนวโน้มผลประกอบการที่อาจแย่ลงต่อเนื่อง อาทิ Facebook -7.6%, Tesla -6.9%, Alphabet (Google) -5.0% กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -2.35% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.81% รีบาวด์ขึ้นจากที่ปรับตัวลดลงหนักจากแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ โดยดัชนี S&P500 ยังได้แรงหนุนจากความต้องการซื้อหุ้นกลุ่มที่มีความได้เปรียบของ pricing-power อย่างหุ้นกลุ่ม Healthcare รวมถึงแรงซื้อหุ้น defensive อย่าง กลุ่ม Utilities

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมาปรับตัวลง -1.64% กดดันโดยรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักและเลือกที่จะเทขายหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ L’Oreal -1.7%, Louis Vuitton -1.6% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ นำโดย Adyen -6.9%, ASML -2.3%

ในฝั่งตลาดบอนด์ ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก รวมถึง ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Esther George (Voting member), Raphael Bostic (Non-Voting member) ที่เริ่มออกมาระบุว่า เฟดอาจหยุดหรือชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ หลังการเร่งขึ้นดอกเบี้ยราว 0.50% อีก 2 ครั้ง ได้ช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดต่างเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.76% อย่างไรก็ดี แนวโน้มบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังคงผันผวนต่อ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะมีมุมมองที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้น ซึ่งต้องรอจับตารายงานการประชุมเฟดในสัปดาห์นี้ และ Dot Plot ใหม่ในการประชุมเดือนมิถุนายน

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงสู่ระดับ 101.8 จุด แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นในตลาดก็เลือกที่จะถือสินทรัพย์ปลอดภัยอื่น อย่าง ค่าเงินเยนญี่ปุ่น พันธบัตรรัฐบาล หรือ ทองคำ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินยูโร (EUR) สู่ระดับ 1.073 ดอลลาร์ต่อยูโร จากแนวโน้มธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนอัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 1,865 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่าระดับดังกล่าวอาจเห็นผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำได้

สำหรับวันนี้ ตลาดรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) โดยเฉพาะมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% รวมถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) ที่ปัจจุบันตลาดได้มองไว้ราว 3.25%

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและในระหว่างวันอาจอ่อนค่าได้บ้าง หลังตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจกลับมาทยอยขายหุ้นไทยได้ อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากนัก

ทั้งนี้ การแข็งเร็วของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มปรับมุมมองการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในฝั่งผู้นำเข้า อาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หรือ ต่ำกว่านั้น ในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับเข้ามาขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทกลับมาอ่อนค่าใกล้ระดับ 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมเงินบาทอาจมีการขยับกรอบการเคลื่อนไหวมาสู่ช่วง 34.00-34.40 ในระยะนี้ นอกจากนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.05-34.20 บาท/ดอลลาร์

___________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย