ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์

0
70

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.98 บาทต่อดอลลาร์
“แข็งค่าขึ้นมาก” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลุดทั้งโซนแนวรับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ (แกว่งตัวในกรอบ 33.90-34.27 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) จากถ้อยแถลงของประธานเฟด Jerome Powell ล่าสุด ที่ไม่เพียงทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ แต่ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสที่จะเร่งลดดอกเบี้ย -50bps ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อประคองไม่ให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอตัวลงหนัก และโดยรวมผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ และอีกราว -125bps ในปีหน้า

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -100bps ในปีนี้ และราว -125bps ในปีหน้า

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ECB และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนสิงหาคม ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด หลังล่าสุด ในงานสัมนาประจำปีของเฟดที่เมือง Jackson Hole ประธานเฟดได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดมีโอกาสเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และแม้ว่าประธานเฟดจะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า เฟดจะมีโอกาสเร่งลดดอกเบี้ยราว -50bps ในแต่ละการประชุมหรือไม่ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดมีโอกาสไม่น้อยกว่า 30% ในแต่ละการประชุมที่เหลือของปีนี้ ในการลดดอกเบี้ยถึง -50bps และโดยรวมผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึง -100bps ในปีนี้ และราว -125bps ในปีหน้า อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างชัดเจนอีกครั้ง หลังรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม ที่จะประกาศในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน ทำให้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ อาจยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อทิศทางนโยบายการเงินของเฟดมากนัก อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนสิงหาคม รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองฝรั่งเศส ทั้งการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี โดยเราประเมินว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส อาจเป็นปัจจัยที่กดดันภาพตลาดทุนฝรั่งเศส และส่งผลให้เงินยูโร (EUR) เสี่ยงพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราผลกำไรของภาคอุตสาหกรรมของจีน (Industrial Profits) และรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ของจีน ในเดือนสิงหาคม (รายงานในช่วงวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม) ซึ่งจะสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตและการบริการของบรรดาบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของกรุงโตเกียว ในเดือนสิงหาคม

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานยอดการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกรกฎาคม โดยนักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่า ยอดการส่งออก (Exports) อาจขยายตัวราว +5.9%y/y ขณะที่ยอดการนำเข้า (Imports) อาจโตราว 1.5%y/y ทำให้โดยรวมดุลการค้าอาจขาดดุลเล็กน้อย

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลง หลังระดับเงินบาท ณ ปัจจุบัน ได้รับรู้ปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าไปมากแล้ว ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทเช่นกัน โดยเงินบาทจะมีโซนแนวรับถัดไปแถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ หลังแข็งค่าทะลุระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ ส่วนโซนแนวต้านแรกจะอยู่ในช่วง 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ และจะมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลง หลังตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดไปมากแล้ว ทว่า เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้แรงหนุนเพิ่มเติม หากตลาดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้งนี้ ควรจับตาสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส และบรรยากาศในตลาดการเงินหลังรับรู้ผลประกอบการของ Nvidia ซึ่งอาจกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.75-34.40 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.85-34.05 บาท/ดอลลาร์