ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

0
146

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 36.37-36.46 บาทต่อดอลลาร์) ตามจังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดก็ได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากรายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะ 1 ปี และ ระยะ 5 ปี ของผู้บริโภคที่รวบรวมโดยเฟดนิวยอร์ก ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3.0% และ 2.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็มีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง หลังความกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสยังคงมีอยู่ จากผลการเลือกตั้งสภาที่สะท้อนว่า ไม่มีพรรคใดจะสามารถคว้าที่นั่งในสภาได้เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะสุญญากาศทางการเมืองฝรั่งเศสได้ โดยความกังวลดังกล่าวได้กดดันตลาดหุ้นฝรั่งเศส อีกทั้งยังกดดันให้เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง ขณะเดียวกัน การย่อตัวลงของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างยังคงรอจังหวะ Buy on Dip ทองคำอยู่

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +1.9% ทว่าโดยรวมหุ้นกลุ่มอื่นๆ กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนัก หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ก่อนที่จะเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.28% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.10%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อราว -0.03% โดยแรงขายส่วนใหญ่กระจุกอยู่ที่ตลาดหุ้นฝรั่งเศส (ดัชนี CAC40 -0.63%) นำโดย LVMH -2.9%, BNP -1.8% หลังสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสยังคงมีความน่ากังวลอยู่ จากผลการเลือกตั้งสภารอบที่สอง ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสเกิด Hung Parliament ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดจะครองเสียงข้างมาก เกินกึ่งหนึ่งในสภาได้

ในส่วนตลาดบอนด์ บรรดาผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาส 99% ในกรณีดังกล่าว) หลังข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ล่าสุด สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ชะลอลงมากขึ้น ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคที่สำรวจโดยเฟดนิวยอร์ก ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ล่าสุดก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ตอกย้ำมุมมองการลดดอกเบี้ยเฟดดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.28% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟดออกมาย้ำจุดยืน ไม่รีบลดดอกเบี้ย หรือบางส่วนก็สนับสนุนให้เฟดคงอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ รวมถึงต้องระวังในกรณีที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็มีโอกาสผันผวนสูงขึ้น ตามความกังวลนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ หากสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีได้ ซึ่งความกังวลดังกล่าวจะสะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นชัดเจนของ Term Premium ของบอนด์ระยะยาว อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิม เน้นกลยุทธ์ “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาว ในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่มั่นใจว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทว่าเงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 105 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.8-105.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง กอปรกับราคาทองคำก็ขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่โดยรวมราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่และสามารถทรงตัวเหนือแนวรับระยะสั้นได้

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะการแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ในประเด็นภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯและการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟด ว่าจะมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ตามที่ตลาดคาดหวังได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวโซน 36.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันเช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะ ถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนนี้ (ทยอยรับรู้ในช่วงราว 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ (รับรู้ในช่วงคืนวันพฤหัสฯ) โดยเงินบาทอาจมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็ยังเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ไม่ยาก หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กับบอนด์ยีลด์ญี่ปุ่น กว้างมากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมาก โดยยังมีโซนแนวต้านแถว 36.50-36.65 บาทต่อดอลลาร์ และเงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตราบใดที่ตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยลดทอนแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติได้บ้าง ทั้งนี้ ยังคงต้องจับตาความผันผวนของราคาทองคำ ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทอยู่ และแม้ว่าเงินบาทอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจติดอยู่แถวแนวรับ 36.30-36.40 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุนการแข็งค่าเพิ่มเติม

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.35-36.55 บาท/ดอลลาร์