ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.56 บาทต่อดอลลาร์

0
192

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.46 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.56 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 36.43-36.60 บาทต่อดอลลาร์) ตามการจังหวะการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดสะท้อนถึงการชะลอตัวลงมากขึ้นของตลาดแรงงานสหรัฐฯ แม้ว่ายอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls จะเพิ่มขึ้น +2.06 แสนตำแหน่ง ดีกว่าคาดเล็กน้อย แต่ก็มีการปรับลดยอดการจ้างงานฯ ที่ได้ประกาศในสองเดือนก่อนหน้าลงเกิน -1 แสนตำแหน่ง ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.1% ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ก็ชะลอลงต่อเนื่อง +3.9%y/y ตามที่ตลาดคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซนราคา 2,380-2,390 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด และการรีบาวด์ขึ้นของสกุลเงินฝั่งยุโรป จากความกังวลสถานการณ์การเมืองยุโรปที่ลดลงบ้าง

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวน จากการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบสองและประเด็นการเมืองของไทย และรอจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนถึงแนวโน้มการชะลอลงของเงินเฟ้อมากขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทว่า ตลาดการเงินอาจไม่ได้มีความเคลื่อนไหวมากนัก เนื่องจากล่าสุดผู้เล่นในตลาดได้ให้โอกาสราว 95% (CME FedWatch Tool) ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพดังกล่าวก็ได้ priced-in ไปมากแล้ว ทำให้เรามองว่า หากจะเห็นการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินมากขึ้น เช่น เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเพิ่มเติม อาจต้องเห็นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แย่ลงมากขึ้นชัดเจน (หรืออัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงกว่าคาด) จนทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยจะมีไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส และนอกจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะเริ่มจับตาการรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินอย่างมีนัยสำคัญ หากตลาดมั่นใจว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้

▪ ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศส (577 ที่นั่ง) รอบสอง ซึ่งล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า พรรคขวาจัด National Rally (RN) อาจได้เสียงข้างมากในสภา แต่ยังไม่เกินกึ่งหนึ่ง (289 ที่นั่ง) ซึ่งภาพดังกล่าวทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสบ้าง ส่งผลให้เงินยูโร (EUR) รีบาวด์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบรรดาสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งยุโรป ทว่า หากผลการเลือกตั้งซึ่งจะทยอยรับรู้ตั้งแต่ช่วง 01.00 น. ตามเวลาประเทศไทยในเช้าวันจันทร์ สะท้อนว่า พรรค RN อาจได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา ก็อาจกดดันให้ตลาดการเงินฝั่งยุโรปเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยงและเงินยูโร (EUR) อาจผันผวนอ่อนค่าลงได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)

▪ ฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจจีนอาจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายนที่อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 0.4%-0.5% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต PPI จะยังคงหดตัว -0.8%y/y ทั้งนี้ ยอดการส่งออกของจีนเดือนมิถุนายนอาจขยายตัว +8.0%y/y ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ส่วนยอดการนำเข้าก็อาจขยายตัว +2.9%y/y ซึ่งการขยายตัวได้ดีของการค้าของจีนจะช่วยหนุนภาพการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ได้ ในด้านนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) และธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 3.00% 3.50% และ 5.50% ตามลำดับ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลงเข้าใกล้เป้าหมายของบรรดาธนาคารกลางดังกล่าวมากขึ้น แต่ยังคงมีความเสี่ยงจากฝั่งค่าเงินที่อาจผันผวนอ่อนค่าได้ จนกว่าจะเริ่มเห็นการทยอยลดดอกเบี้ยลงของเฟด

▪ ฝั่งไทย – สถานการณ์การเมืองในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการนัดพิจารณาคดีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน โดยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 กรกฎาคม ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ เราประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนอาจย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 60 จุด หรือต่ำกว่าเล็กน้อยได้ ตามความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่าง Digital Wallet

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่ากลับมามีกำลังมากขึ้น แต่การแข็งค่าก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม อีกทั้งต้องระวังสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจกดดันฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และเงินหยวนจีน (CNY) ที่มีผลต่อเงินบาทในช่วงนี้ได้พอสมควร

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจพอได้แรงหนุนบ้างในช่วงต้นสัปดาห์ หากพรรค National Rally คว้าที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งของสภาฝรั่งเศสสวนทางกับที่ตลาดคาดหวัง กดดันให้ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แต่หากอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ชะลอลงตามคาด/ชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้างในช่วงปลายสัปดาห์

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.25-36.85 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.40-36.55 บาท/ดอลลาร์