ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.79 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์

0
206

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.79 บาทต่อดอลลาร์
“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 36.70-36.82 บาทต่อดอลลาร์) ตามการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงทดสอบโซย 36.80 บาทต่อดอลลาร์ จากการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว ในรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ปรับตัวขึ้นและสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความคาดหวังแนวโน้มการลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ของเฟดในปีนี้ลงบ้าง ทั้งนี้ โดยรวมเงินบาทยังคงแกว่งตัว sideways ใกล้โซน 36.70-36.80 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ที่จะสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อ อย่าง ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI

สัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทำให้เงินดอลลาร์โดยรวมแกว่งตัว sideways ในกรอบ

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้งดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI พร้อมรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่จะช่วยสะท้อนแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้ง ดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวออกมาสูงกว่าคาด โดยเฉพาะในส่วนของโมเมนตัมรายเดือน (%m/m) ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดมากขึ้น และกลับมาประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 1 ครั้ง หรือ อาจไม่ลดดอกเบี้ยเลยในปีนี้ (เรายังคงมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 3-4 ครั้ง ได้) ซึ่งในกรณีดังกล่าว ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามการปรับลดความคาดหวังต่อการทยอยลดดอกเบี้ยของเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด Jerome Powell หลังล่าสุด ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้ชะลอตัวลงมากขึ้น ทว่าข้อมูลด้านเงินเฟ้อ ก็อาจยังไม่ได้ชะลอตัวลงชัดเจน อย่างที่เฟดต้องการ ซึ่งจากการประเมินถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่ผ่านมา เรามองว่า สัปดาห์นี้ โทนการสื่อสารโดยรวม อาจยังคงสงวนท่าทีต่อการสนับสนุนการลดดอกเบี้ย และเสี่ยงที่จะเห็นบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยหรือบางส่วนอาจสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ หากรายงานข้อมูลเกี่ยวกับเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อประเมินโอกาสที่ BOE อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน ส่วนทางฝั่งยูโรโซน ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงาน GDP ยูโรโซน ในไตรมาสแรกของปีนี้ รวมถึง ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) พร้อมกับรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าของ ECB ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ECB จะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ ยอดค้าปลีกและยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดจะรอจับตารายงาน GDP ไตรมาสแรกของปีนี้ เพื่อประเมินโอกาสที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน 6.50% โดยทาง BSP อาจรอเฟดเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยได้จริง หรือมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ เพื่อลดความเสี่ยงและแรงกดดันต่อค่าเงิน ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ก็ชะลอลงต่อเนื่องเข้าสู่กรอบเป้าของ BSP

▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า โฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติราว 5.7 พันล้านบาทในสัปดาห์นี้ อาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ ยอดจ่ายเงินปันผล ถือว่า ลดลงพอสมควรจากช่วงก่อนหน้าที่มีการจ่ายเกิน 1 หมื่นล้านบาทในแต่ละสัปดาห์ และหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย ก็พอจะช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท จากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทเสี่ยงผันผวนสูงไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทั้งนี้ เงินบาทยังคงมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจาก โฟลว์จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงแรงซื้อเงินดอลลาร์ในจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้น และต้องระวังความผันผวนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หากบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมา “ปิดรับความเสี่ยง” และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ เงินเยนญี่ปุ่นและเงินหยวนจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินบาทได้ในช่วงนี้

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจเลือกทิศทางในระยะสั้น ตามรายงานข้อมูลสัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยหากทั้งดัชนี PPI และอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมา “สูงกว่าคาด” ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หนุนให้ทั้ง เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.40-37.15 บาท/ดอลลาร์ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์