นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า
ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.88 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.78-35.95 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก่อนที่เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ทดสอบโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ตามที่เราประเมินไว้ หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม ชะลอลงสู่ระดับ 2.4% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ชะลอลงสู่ระดับ 2.8%) ตามที่ตลาดประเมินไว้ ขณะเดียวกัน ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ก็ออกมาแย่กว่าคาด ส่งผลให้ ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง ซึ่งหนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ยังคงย้ำจุดยืนว่าเฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ย จนกว่าจะมั่นใจในข้อมูลเศรษฐกิจ ก็มีส่วนหนุนให้เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นมาบ้าง กดดันให้เงินบาทกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 35.90 บาทต่อดอลลาร์
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมองว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด ซึ่งมุมมองดังกล่าวยังได้หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างรีบาวด์ขึ้น นำโดย Nvidia +1.9% และ Microsoft +1.5% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +0.90% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.52%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า หนุนโดยความหวังของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า การชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อเยอรมนีล่าสุด จะเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังคงเผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Healthcare โดยเฉพาะบริษัทที่เริ่มเผชิญการแข่งขันในตลาดยาเบาหวานที่มีผลข้างเคียง ช่วยลดน้ำหนัก เช่น Novo Nordisk -1.7%
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.30% ไปได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 4.25% หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ชะลอตัวลงตามคาด ส่วนยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานล่าสุด ก็ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อมั่นว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% ได้นั้น อาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีน้อยมากในปัจจุบัน ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน และภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนจากมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดซึ่งต่างย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) แกว่งตัวใกล้ระดับ 104.1 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.7-104.2 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ ราคาทองคำจะย่อตัวลงเล็กน้อยและแกว่งตัวเหนือระดับ 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นบ้างของเงินบาท
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดย ISM (Manufacturing PMI) เดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปของเฟด หลังการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อ CPI และ อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนมกราคม
ส่วนในฝั่งยุโรป ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down หลังปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าได้ลดลงไปบ้าง แต่ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนการแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจน โดยอย่างน้อย เงินดอลลาร์ก็อาจแกว่งตัว sideways ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ส่วนบรรยากาศในตลาดการเงินก็ยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อาจเกิดขึ้น หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้พลิกกลับมาอ่อนค่าลงพอสมควร เมื่อเทียบกับเงินบาท นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้น และบอนด์ระยะสั้น (ซึ่งอาจสะท้อนถึงการทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB ของผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้ จากการที่เงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา) ทำให้ เรายังคงมองเหมือนเดิมว่า เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.70-35.80 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ง่ายนัก จนกว่าจะมีปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน เช่น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ควรออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ซึ่งอาจต้องรอลุ้น รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ในคืนนี้ ซึ่งอาจจะเห็นการแกว่งตัวของค่าเงินเหมือนกับช่วงคืนที่ผ่านมา ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด
เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.00 บาท/ดอลลาร์