ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง​ จากระดับปิดวันก่อนหน้า

0
1283

บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงอีกครั้ง และอาจเรียกได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีการเคลื่อนไหวคล้ายกับ Bear Market Rally (ตลาดอยู่ใน Bear Market แต่ระหว่างทางอาจมีการรีบาวด์ขึ้นบ้าง) โดยปัจจัยกดดันตลาดการเงินยังคงเป็นความกังวลปัญหาเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนได้ โดยล่าสุด บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ Walmart และ Target ได้ประกาศผลกำไรที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก จากผลกระทบต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและปัญหา supply chain นอกจากนี้ บริษัทค้าปลีกดังกล่าวยังได้มีการปรับคาดการณ์ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ TV ลง ซึ่งอาจสะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้คนที่อาจเน้นการใช้จ่ายในของที่จำเป็นท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง

ความกังวลผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อสูงต่อแนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้น ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาด กลับมาเทขายหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่อ่อนไหวต่อเงินเฟ้อและดอกเบี้ย กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -4.73% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลง -4.04%

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปก็พลิกกลับมาปรับตัวลง -1.36% เช่นกัน จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่อ่อนไหวกับปัญหาเงินเฟ้อสูงและการปรับขึ้นดอกเบี้ย อาทิ Adyen -3.7%, SAP -2.6% นอกจากนี้หุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ได้ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 9% สูงที่สุดในรอบ 40 ปี สอดคล้องกับคาดการณ์ของธนาคารกลางอังกฤษที่ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับโอกาสเศรษฐกิจซบเซาลงหนัก ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงก่อนหน้า

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอีกครั้ง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.88% สอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways และผู้เล่นในตลาดอาจเน้นเทรดในกรอบ (Buy on Dip and Sell on Rally)

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอีกครั้ง ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.9 จุด โดยเงินดอลลาร์ได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ แม้ว่า ตลาดจะกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่ราคาทองคำกลับไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้มาก โดยราคาทองคำยังคงติดแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับตัวลงของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคากลางยุโรป (ECB) เพื่อวิเคราะห์โอกาสที่ ECB อาจเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด อาทิ การขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในไตรมาสที่ 3 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อยุโรปที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจพุ่งสูงขึ้นต่อ หากสหภาพยุโรปตัดสินใจมาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย

นอกจากนี้ในฝั่งเอเชีย ตลาดมองว่า ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25% หลังเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องและเงินเฟ้อล่าสุดได้ปรับตัวขึ้นทะลุกรอบของ BSP (2%-4%) และเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับสูงได้นาน

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า ความผันผวนในตลาดยังคงมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากการที่ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อและกดดันเงินบาท จนกว่าตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนและอ่อนค่าได้ โดยแนวต้านของเงินบาทในระยะสั้นจะอยู่ในโซน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติว่าจะกลับมาเทขายหุ้นไทยตามภาวะปิดรับความเสี่ยง หรือจะเข้าซื้อหุ้นไทยในจังหวะย่อตัว ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะอยู่ในโหมดระมัดระวังตัวมากขึ้นและยังไม่กล้ากลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยมากนัก จนกว่าจะมีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาหนุน อาทิ แนวโน้มการเปิดประเทศดีขึ้นต่อเนื่องและการกำหนดให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดประจำท้องถิ่นหรือ Endemic อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าคาด เป็นต้น ซึ่งหากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย ก็อาจทำให้เงินบาทขาดแรงหนุนฝั่งแข็งค่าในช่วงนี้

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

___________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย