ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

0
441

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.95 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.99 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.94-35.03 บาทต่อดอลลาร์) โดยเป็นการเคลื่อนไหวไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงแกว่งตัวในกรอบเช่นกัน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ โดยเฉพาะผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันอังคารนี้ ทั้งนี้ เงินบาทยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำพยายามรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านแต่ยังไม่สามารถผ่านไปได้ ทั้งนี้ เราประเมินว่า ตลาดค่าเงินมีโอกาสผันผวนสูงในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ ในวันนี้

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังของผู้เล่นในตลาดที่มองว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ราว 6 ครั้ง หรือ -150bps ในปีหน้า โดยมุมมองดังกล่าวยังคงหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ต่างปรับตัวขึ้นได้ดี อาทิ Amazon +2.7%, Nvidia +2.4% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.61% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.45%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลดลง -0.27% กดดันโดยแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับสูงได้นานของทั้งธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ ฝั่งยุโรปต่างย่อตัวลงบ้าง อาทิ ASML -2.6% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน BP +1.6% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน หลังผู้เล่นในตลาดกังวลต่อสถานการณ์อุปทานน้ำมัน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าโดยกลุ่ม Houthi ในเยเมน

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะต่างออกมาให้ความเห็นในเชิงลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ และในระยะถัดไป ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดยังคงทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 3.92% อนึ่ง เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงมาพอสมควร ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น ในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว มากกว่าที่จะไล่ราคาซื้อ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ยังคงไม่ได้สะท้อนว่า เฟดจะมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกตามที่ตลาดกำลังคาดหวังอยู่

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการผันผวนอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการปรับสถานะของบรรดาผู้เล่นในตลาดก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุม BOJ โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.5 จุด (กรอบ 102.3-102.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีหน้า รวมถึงจังหวะอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังพอช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถทรงตัวใกล้ระดับ 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ แม้ว่าราคาทองคำจะพยายามปรับตัวขึ้นต่อ ทว่าแรงขายทำกำไรในช่วงโซนแนวต้านยังคงหนาแน่น ทำให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อไปได้ อย่างไรก็ดี โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทบ้าง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยผู้เล่นจะรอลุ้นว่า BOJ จะมีการส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็คาดหวังว่า BOJ อาจมีการประกาศยกเลิกการทำ Yield Curve Control ในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเปิดทางไปสู่การทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนพฤศจิกายน พร้อมรอติดตามการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 โดยเฟดสาขา Atlanta (GDPNow)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideway ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ ทว่า ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOJ เพราะหาก BOJ ไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างที่ตลาดคาดหวัง ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้สะท้อนในการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ไปพอสมควรแล้ ก็อาจทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงเร็วและแรง สู่โซนแนวต้าน 145 เยนต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ และกดดันให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี หาก BOJ มีการปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือ มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าพร้อมจะปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้น เรามองว่า เงินเยนญี่ปุ่นก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 141 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจพอช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

นอกเหนือจากผลการประชุม BOJ เรามองว่า เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยังคงต้องจับตาว่า นักลงทุนต่างชาติจะเดินหน้าซื้อสินทรัพย์ไทยต่อเนื่องได้หรือไม่ หลังฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาผันผวนอีกครั้ง

ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญแถว 35 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากผ่านไปได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ เงินเยนญี่ปุ่น พลิกกลับมาอ่อนค่าลงหนัก ก็อาจเห็นเงินบาทผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านถัดไป แถว 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่โซนแนวรับอาจยังเป็นช่วง 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับที่สำคัญถัดไป

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.80-35.15 บาท/ดอลลาร์