ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

0
506

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.96 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.93-36.17 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงหนักของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผลการประชุม BOJ ไม่ได้ปรับนโยบาย Yield Curve Control อย่างที่ตลาดคาดหวัง นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาทองคำสู่โซนแนวรับระยะสั้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่กลับมากดดันเงินบาทเช่นกัน ผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นผลการประชุมเฟด (รับรู้ในช่วง 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.65%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.59% แม้ว่าตลาดหุ้นยุโรปจะเผชิญแรงกดดันบ้างจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สะท้อนภาพการชะลอตัวลงมากขึ้นของเศรษฐกิจยูโรโซน ทว่าภาพดังกล่าวกลับทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า ECB ได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง (ASML +2.4%, SAP +0.9%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังคงเปิดรับความเสี่ยงและมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังมองว่า เฟดอาจส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน (Higher for Longer) ในการประชุมเฟดที่จะถึงนี้ ยังคงส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.93% อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นได้บ้างในสัปดาห์นี้ แต่เรามองว่า จุดสูงสุดก็น่าจะอยู่ใกล้แถว 5% ทำให้เรายังคงแนะนำ “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาว โดยรอจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ในการทยอยเข้าซื้อ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หลังเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงหนัก ทะลุระดับ 151 เยนต่อดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังต่อการปรับมาตรการ Yield Curve Control ของ BOJ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 106.7 จุด (กรอบ 105.9-106.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,990 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจรอทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว โดยโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงบ้าง

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ผลการประชุมเฟด ที่จะรับรู้ในช่วงราว 1.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาประเทศไทย โดยจากการประเมินถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต่างกังวลต่อแนวโน้มภาวะการเงิน (Financial Conditions) ที่ตึงตัวมากขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ (โอกาส 95.8% จาก CME FedWatch Tool) และสถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ เรามองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินเฟด (FOMC) จะมีมติ “คง” อัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% อย่างไรก็ดี เราจะจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของประธานเฟดในช่วงหลังรับรู้ผลการประชุม และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ ในสัปดาห์นี้ และนอกเหนือจากผลการประชุมเฟด เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี ISM ภาคการผลิต และรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP รวมถึง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ซึ่งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจะถูกรับรู้ก่อนผลการประชุมเฟด ทำให้ตลาดการเงินอาจผันผวนสูงได้พอสมควร

นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินในช่วงนี้ได้เช่นกัน

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มกลับมาบ้าง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงหนักของเงินเยนญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ราคาทองคำ ก็ย่อตัวลงทดสอบโซนแนวรับระยะสั้น ทำให้เงินบาทเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในช่วงย่อตัว อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า หากเงินบาทอ่อนค่าลงก็อาจติดโซนแนวต้านแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังมีความผันผวนสูงในช่วงนี้ แต่เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติก็อาจชะลอลงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ตั้งแต่ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ไปจนถึงช่วงรับรู้ผลการประชุมเฟด โดยในช่วงนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างยังคงกังวลต่อแนวโน้มเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้นาน (Higher for Longer ) ทำให้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่ได้ดีไปกว่าคาดชัดเจน หรือ เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด เรามองว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง

เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่เสี่ยงทวีความรุนแรงและบานปลาย ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.05-36.30 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด และประเมินกรอบ 35.90-36.60 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด