นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ 34.84-34.94 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลุดแนวรับ 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เนื่องจากตลาดการเงินสหรัฐฯ ปิดทำการในวันหยุด 4th of July ทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอปัจจัยใหม่ๆ ในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ในวันศุกร์
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดทำการเนื่องในวันหยุด 4th of July ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในตลาดไม่มีทิศทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ข้อมูลการจ้างงานในช่วงปลายสัปดาห์
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.07% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยใหม่ๆ เพื่อประเมินทิศทางเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรป ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare (AstraZeneca +2.0%) หลังจากที่ปรับตัวลงแรงในวันก่อนหน้า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหว sideway เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตาปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อมูลตลาดแรงงาน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 103 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.9-103.1 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ เนื่องจากตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ ปิดทำการ ทำให้ธุรกรรมในตลาดทองคำเบาบาง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาปัจจัยใหม่ๆ ทำให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรเพิ่มเติมและโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็อาจช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทย เรามองว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนมิถุนายน อย่างใกล้ชิด โดยเรามองว่า ผลของฐานราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงในปีก่อนหน้า อาจส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อ CPI ชะลอลงหนักสู่ระดับ 0.04% (+0.4%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจทรงตัวที่ระดับ 1.50% ทั้งนี้ หากราคาสินค้าและบริการชะลอลงมากกว่าคาด ก็อาจเห็นอัตราเงินเฟ้อ CPI “ติดลบ” ได้เช่นกัน ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว ดังนั้น หากอ้างอิง ท่าที “Outlook Dependent” ของ ธปท. ที่ยังมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น ตามภาพเศรษฐกิจ เราก็ยังคงมุมมองเดิมว่า ธปท. อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ +0.25% สู่ระดับ 2.25% ได้ในการประชุมเดือนสิงหาคม
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจชะลอลงได้บ้าง หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา โดยล่าสุด เงินบาทได้กลับมาอยู่ใกล้โซนแนวรับสำคัญ 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นผู้เล่นบางส่วนในตลาด อาทิ ผู้นำเข้า ต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์อยู่บ้าง นอกจากนี้ หากมองในแง่ของสกุลเงินอื่นๆ จะเห็นได้ว่า เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเงินบาท สู่ระดับ 23.95 บาทต่อ 100 เยน (ต่ำกว่าแนวรับ 24 บาทต่อ 100 เยนที่เราเคยประเมินไว้) ทำให้อาจเห็นโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนจากผู้เล่นในตลาด ซึ่งอาจช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้บ้าง
ทั้งนี้ หากตลาดการเงินไทยยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อออกมาต่ำกว่าคาด ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า ธปท. อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยต่อ เรามองว่า เงินบาทก็อาจได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าเพิ่มเติม จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจกลับเข้ามาซื้อทั้งหุ้นและบอนด์ไทยเพิ่มเติม โดยเราประเมินไว้เบื้องต้นว่า หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อ จากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลเข้า ก็อาจมีแนวรับแถว 34.75 บาทต่อดอลลาร์
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.75-35.00 บาท/ดอลลาร์