ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.22 บาทต่อดอลลาร์

0
612

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นและเคลื่อนไหวในกรอบ 34.95-35.25 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ หลังดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงแย่กว่าคาด นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากความกังวลปัญหาการเมืองไทยต่อประเด็นการเลือกประธานสภาฯ ที่เริ่มคลี่คลายลง

แม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเปิดทำการเพียงครึ่งวัน แต่ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างยังคงเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร (BofA +1.8%, Wells Fargo +1.7%) หลังผลการทดสอบ Stress Test ออกมาเป็นที่น่าพอใจและทำให้บรรดาธนาคารดังกล่าวประกาศจ่ายปันผล นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นแรงของหุ้น Tesla +6.9% ตามรายงานยอดส่งมอบรถยนต์ที่โตกว่า +10%q/q (+83%y/y) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับเผชิญแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ใหญ่ (Apple -0.8%, Microsoft -0.8%) จากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.12%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.21% กดดันโดยการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่ม Healthcare นำโดย AstraZeneca -8.0% หลังนักวิเคราะห์ประเมินว่าบริษัทอาจได้รับอานิสงส์จากยารักษามะเร็งปอดน้อยกว่าคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.7%) และหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ (Rio Tinto +2.1%) ท่ามกลางความหวังว่า ทางการจีนอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่เปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องและรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 103 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.9-103.2 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด แต่ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) รีบาวด์ขึ้นเข้าใกล้ระดับ 1,940 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนเผชิญแรงขายทำกำไรและย่อตัวลงมาใกล้ระดับ 1,929 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจมีไม่มากนัก และอาจมีเพียงผลการประชุมของธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ที่อาจมีความน่าสนใจ โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า RBA จะกลับมาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.10% ตามภาพเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอมากขึ้น

ทั้งนี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการโหวตเลือกประธานสภาฯ ในวันนี้ ซึ่งการประชุมสภาฯ จะเริ่มต้นในเวลา 9.00 น. และกระบวนการโหวตเลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ทั้งสองตำแหน่ง อาจใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ ท่ามกลางปัจจัยการเมืองในประเทศที่เริ่มมีผลกับตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะนี้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นแผ่วลงมากขึ้น ทำให้หากเงินบาทอ่อนค่าลงก็อาจจะยังคงติดโซนแนวต้านแถว 35.50 บาทต่อดอลลาร์ หรือโซนแนวต้านสำคัญที่เราเคยประเมินไว้ก่อนหน้าแถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการเลือกประธานสภาฯ เพราะหากผลการเลือกเป็นไปตามที่ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเสนอและแถลงในคืนก่อนหน้า เรามองว่า ตลาดการเงินอาจตอบรับในเชิงบวก หนุนให้เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวรับ 34.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ทว่า หากผลการเลือกประธานสภาฯ ผิดจากคาด และสะท้อนความวุ่นวายทางการเมืองหรือความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล เราประเมินว่า เงินบาทก็มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้เช่นกัน

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.20 บาท/ดอลลาร์