ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.60 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.64 บาทต่อดอลลาร์

0
569

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงคืนก่อนหน้า เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 35.50-35.65 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ) ก่อนที่จะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลงต่อเนื่องของราคาทองคำ

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.04% หลังประธานเฟด Jerome Powell ยังคงเน้นย้ำจุดยืน พร้อมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 2 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อให้สำเร็จ ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้กดดันให้ ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของหุ้น Nvidia -1.8% และหุ้นกลุ่ม Semiconductor อื่นๆ จากความกังวลว่า ทางการสหรัฐฯ อาจออกมาตรการจำกัดการส่งออก Chip ไปยังจีน

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวขึ้นราว +0.70% ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคลายกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลัก หลังล่าสุดข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH +1.2%) รวมถึงหุ้นกลุ่ม Semiconductor (ASML +2.3%) ที่ยังได้อานิสงส์จากการลงทุนในธีม AI

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าประธานเฟดจะส่งสัญญาณชัดเจน ย้ำจุดยืนเดือนหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง แต่ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ (Buy on Dip) ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.72%

ทางด้านตลาดค่าเงิน มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มปรับเพิ่มโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนกรกฎาคมและการประชุมเดือนกันยายน หลังประธานเฟดยังคงเน้นย้ำจุดยืนเดือนหน้าขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ได้หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103 จุด (กรอบการเคลื่อนไหว 102.5-103.1 จุด ในช่วงคืนที่ผ่านมา) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ทยอยปรับตัวลดลง แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ก็กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซน 1,920-1,925 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะย่อลงใกล้ระดับ 1,915 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราประเมินว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ เรายังคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ส่วนในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกและการว่างงานต่อเนื่อง (Initial & Continuing Jobless Claims)

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ หลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ (อ่อนค่ามากกว่าเราคาด) ในวันก่อนหน้า ซึ่งปัจจัยหลักที่ช่วยหนุนการอ่อนค่าของเงินบาทนั้น มีทั้งโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว รวมถึงโฟลว์ซื้อเงินดอลลาร์/สกุลเงินต่างประเทศในช่วงปลายเดือนจากบรรดาผู้นำเข้าและบริษัทข้ามชาติ (MNCs) อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาท แม้ว่าจะทะลุแนวต้านที่เราประเมินไว้ต้นสัปดาห์ แต่เรามองว่า หากไม่มีแรงเทขายสินทรัพย์ไทยที่รุนแรง เงินบาทก็อาจจะไม่ได้อ่อนค่าต่อไปมากนัก โดยเราประเมินแนวต้านใหม่แถว 35.75 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน เพราะหากยอดดังกล่าวปรับตัวขึ้นมากกว่าคาด สะท้อนตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ที่ชะลอลง ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ชัดเจน ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสย่อตัวลงได้บ้าง ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับ การปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้นของราคาทองคำได้

อนึ่ง เราได้ประเมินจุดกลับตัวของเงินบาทโดยใช้การประเมิน FVT (Fundamental, Valuation and Technical) เราพบว่า จุดกลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้น ของเงินบาทอาจเกิดขึ้นใกล้ระดับ 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงแย่ลงที่ชัดเจนและเงินบาทก็ยังคงได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่วนในเชิง Valuation ค่าเงินบาทในโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถือว่าอยู่ในระดับ Undervalued พอสมควร และสัญญาณเชิงเทคนิคัลก็เริ่มมีสะท้อนโอกาสในการกลับตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ ก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากกว่าระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในเชิง Valuation เงินบาทจะอยู่ในระดับที่ Undervalued มาก

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและการปรับเปลี่ยนมุมมองไปมาของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายเฟด ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาท/ดอลลาร์