ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.38 บาทต่อดอลลาร์

0
475

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ สามารถพลิกกลับมาปิดตลาด +0.33% แม้ว่าตลอดช่วงการซื้อขาย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกกดดันจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะหลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่าง ดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก (Empire State Manufacturing Index) เดือนเมษายน จะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 10.8 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดไปมาก แต่โดยรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังได้แรงหนุนจากความคาดหวังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มธนาคารและการเงิน ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ (Wells Fargo +4.2%, Morgan Stanley +3.0%)

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.01% กดดันโดยแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มที่ปรับตัวได้ดีในช่วงก่อนหน้า อาทิ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Dior -2.3%, LVMH -2.2%) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มลดการถือครองหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน (UBS -3.8%, BNP -2.0%) เพื่อรอจับตารายงานผลประกอบการของหุ้นกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนทางฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมเดือนพฤษภาคม และอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.60% ซึ่งเป็นโซนแนวต้านที่สำคัญในระยะสั้น (หากปรับตัวขึ้นทะลุโซนดังกล่าว ก็อาจเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อทดสอบโซน 3.70%-3.80% ได้ไม่ยาก) สอดคล้องกับมุมมองเดิมของเราที่คาดว่า บอนด์ยีลด์ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ จากการปรับมุมมองต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาด ซึ่งเราคงมองว่า นักลงทุนควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ โดยอาจรอลุ้นผลการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคมก่อนได้

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด ทำให้ล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 102.1 จุด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2,006 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นการรีบาวด์ขึ้นเล็กน้อย หลังราคาทองคำย่อตัวทดสอบโซนแนวรับแรกแถว 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอจังหวะทองคำย่อตัวลง เพื่อเข้าซื้อ (Buy on Dip) โดยโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวดังกล่าว ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีน (ทยอยรับรู้ในช่วงเวลา 9.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) โดย ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวกว่า +3.8%y/y ในไตรมาสแรกของปีนี้ หนุนโดยการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในฝั่งการบริโภค หรือ ภาคการบริการหลังการเปิดประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนมีนาคม ตลาดคาดว่า ยอดค้าปลีกอาจขยายตัวกว่า +7.0%y/y ขณะที่ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) จะขยายตัวเพียง +4.0%y/y สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเหมือนดัชนี PMI ภาคการบริการ ส่วนยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) อาจโตราว +5.7%y/y (นับจากตั้งแต่ต้นปี)

ส่วนในฝั่งยุโรป บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า ความกังวลต่อปัญหาระบบธนาคารยุโรปที่คลี่คลายลง อาจหนุนให้บรรดานักลงทุนสถาบันมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีมากขึ้น สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนเมษายน ที่อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 15.1 จุด (ดัชนีสูงกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ)

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลง ทว่าในวันนี้ ก็มีโอกาสลุ้นเงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง ซึ่งต้องรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในช่วงเช้า และรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของฝั่งยุโรปในช่วงบ่าย

โดยในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ก็อาจหนุนให้ผู้เล่นในตลาดสะสมการลงทุนในสินทรัพย์ฝั่ง EM Asia มากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจในโซน EM Asia ก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์จากภาพเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีนี้ เราคาดว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง แต่เงินบาทก็อาจไม่ได้แข็งค่าไปมากนัก โดยเรามองว่า ควรจับตาการแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 วัน แถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ หากในช่วงบ่าย ตลาดกลับมาเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจฝั่งยุโรปมากขึ้น ซึ่งอาจได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีและยูโรโซนที่ออกมาดีกว่าคาด ก็อาจช่วยส่งผลให้ เงินยูโร (EUR) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง กดดันให้เงินดอลาร์อ่อนค่าลงและหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่ได้เป็นปัจจัยหนุนเงินบาทฝั่งแข็งค่ามากนัก เนื่องจากเรายังคงเห็นว่า นักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย หรือยังคงทยอยขายบอนด์ระยะยาวอยู่ ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อจนแตะระดับ 2.00% เป็นอย่างน้อยได้

ในช่วงนี้ เราคงมองว่า ความผันผวนของตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูงทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.60 บาท/ดอลลาร์